Admin
30 พ.ย. 2564
วิถีชีวิตเด็กในชุมชนป่าชายเลนทุ่งตะเซะ ใช้เวลาว่างหาหอยที่มีอยู่ชุกชุมขาย หารายได้เป็นค่าขนม
เด็กๆ ชุมชนป่าชายเลนบ้านทุ่งตะเซะ ลุ่มน้ำปะเหลียน จ.ตรัง ใช้เวลาว่างออกหาหอยนานาชนิดที่มีอย่างชุกชุม เพื่อนำไปขาย และปรุงกินในครัวเรือน ทำให้มีรายได้เป็นค่าขนม แถมช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน
ที่ป่าชายเลนชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ได้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญของลุ่มน้ำปะเหลียน ผลจากการที่ชาวบ้านในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งการปลูกป่าชายเลนเพื่อขยายพื้นที่ หรือการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ให้มีน้ำเสียไหลลงสู่ลำคลอง จึงทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำชายฝั่ง ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา โดยชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งจำนวนมากประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้าน ได้อาศัยผืนป่าชายเลนดังกล่าวนี้เป็นห้องครัวขนาดใหญ่ ในการออกจับสัตว์น้ำมาจำหน่าย และนำมารับประทาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
ทั้งนี้ พบว่าวิถีชีวิตของเด็กๆ ในชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ พร้อมด้วยครอบครัว ต่างผูกพันกับป่าชายเลนผืนนี้เป็นอย่างมาก จึงมักจับกลุ่มกันออกไปหาหอย หรือวางอวนดักจับปูดำ โดยเฉพาะหอยซึ่งมีหลายชนิด และสามารถออกหาหอยได้อย่างง่ายดายในบริเวณป่าชายเลน หรือป่าโกงกางในหมู่บ้าน โดยไม่ต้องนั่งเรือออกไปไกล ซึ่งสามารถหาได้ทั้งในช่วงที่น้ำทะเลขึ้น และช่วงที่น้ำทะเลลง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เด็กๆ ในชุมชนจะไม่ได้ออกไปเที่ยวนอกบ้าน หรือไปเที่ยวเตร่กับเพื่อนๆ และจะอยู่แต่เฉพาะภายในบ้านของตนเอง หรือกับญาติพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงเท่านั้น จึงมักใช้เวลาว่างตามวิถีชีวิตชุมชนด้วยการออกไปจับหอยมาขาย
ด.ช.จตุพร สาเหล่า อายุ 8 ปี และ ด.ช.อนุชิต พรมโสภา อายุ 9 ปี พร้อมด้วยเพื่อนๆ รวมทั้งแม่ ป้า และยาย จะใช้เวลาว่างหลังจากการเรียนออนไลน์ในช่วงวันหยุด ออกไปหาหอยที่มีอย่างชุกชุมในพื้นที่ ด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ ที่หาได้จากบ้าน เช่น ถุงตาข่าย ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติกใสตัดครึ่ง รวมทั้งผ้าขาวม้า โดยเด็กๆ บางคนจะเดินเท้าเปล่าเข้าไปในป่าชายเลนด้วยความชำนาญ เพื่อหาหอยเข็ม หอยปากแดงหรือหอยตาแดง หอยกัน และหอยปะ โดยหอยบางส่วนจะไต่หนีน้ำขึ้นมาเกาะตามต้นไม้ ทำให้เด็กๆ ต้องรีบเก็บใส่ถุง โดยเฉพาะหอยปากแดง จะขายได้ราคาดีกิโลกรัมละ 70-80 บาท ทำให้มีรายได้เป็นค่าขนม และลดรายจ่ายในครัวเรือน
นอกจากนั้น ชาวบ้านในชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ ลุ่มน้ำปะเหลียน ยังได้มีการกันพื้นที่บางส่วน และขึ้นป้ายประกาศศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์หอยปะ บ้านทุ่งตะเซะ หมู่ 9 ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง เพื่อร่วมกันอนุรักษ์หอยปะ โดยข้อตกลงของชุมชน คือจะไม่เก็บหอยตัวเล็ก หรือหอยที่ยังไม่ได้ขนาดอย่างเด็ดขาด เพื่ออนุรักหอยทุกชนิด ขณะเดียวกันยังช่วยกันสอดส่องไม่ให้ชาวบ้านจากต่างพื้นที่เข้าไปเก็บหอยตัวเล็กๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับหอยทุกชนิดที่จับมาได้นั้น สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายอย่าง ทั้งผัด ลวกจิ้ม อบซีอิ้วขาว นึ่ง แกงเผ็ด แกงกะทิใบชะพลู ต้มกะทิ แกงเลียง เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นเมนูพื้นบ้านรสเด็ดที่ทุกคนชื่นชอบ
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์