Admin 5 มี.ค. 2560

"เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ"ภูเก็ตเฟื่อง ทำน้ำทะเลเสีย!

กรมทรัพยากรทางทะเล วอนผู้ประกอบการใช้สารซีโอไลท์ซักผ้า ลดปัญหาน้ำเสีย นางสาวสุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้แจงกรณีเว็บไซต์ มติชนออนไลน์ เผยแพร่ข่าวหัวข้อ "เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญระบาด หาดป่าตองผงซักฟอกไหลลงทะเลโดยตรงทำน้ำเปลี่ยนสีแก้ไม่ตกอนาคตเรื่องใหญ่" ดังนี้

640_ie8bfk96bbabbfahgja8b

1. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 เวลา 15.42 น. เว็บไซต์ มติชนออนไลน์ เผยแพร่ข้อความข่าวกรณี ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องทะเล เปิดเผยว่าพบปัญหาใหม่ ที่เกิดขึ้นกับทะเล จ.ภูเก็ต โดยเฉพาะพื้นที่หาดป่าตองมีประชากรแฝงอยู่ในบริเวณดังกล่าวมากถึง 1.5 แสนคน อาศัยอยู่ในห้องเช่า หอพัก อพาร์ตเมนต์ ห้องแถว อาคารชุด ซึ่งทุกแห่งของสถานที่เหล่านี้ ล้วนแต่มีบริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญนับหมื่นๆ เครื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียรองรับเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ จึงมีน้ำเสียไหลลงท่อระบายน้ำเสียโดยตรง และลงไปในทะเลโดยไม่ผ่านการบำบัด ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี แพลงก์ตอนบลูม เนื่องจากมีปริมาณฟอสเฟส ที่เป็นส่วนผสมในผงซักฟอกปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเลบริเวณหาดป่าตอง ยังไม่มีใครคิดวิธีจัดการกับปัญหา และอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้

2. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่ายเลน (สวพ.) และหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ประสานกับกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบแล้ว พบว่าสาเหตุหลักของการเกิดสาหร่ายสะพรั่งหรือน้ำทะเลเปลี่ยนสี คือการมีปริมาณสารอาหารในแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง และมีปริมาณแสงแดดจัด และบริเวณที่การไหลเวียนของน้ำไม่ดีมาก เช่นในพื้นที่ที่เป็นอ่าว (โดยเฉพาะบริเวณก้นอ่าว) ซึ่งในภาวะปกติ พบการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีทางฝั่งทะเลอันดามันน้อยมาก แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชจนน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวที่อ่าวป่าตองเป็นประจำเกือบทุกปี โดยมักเกิดในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือน มกราคม-มีนาคม

กรณีการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีที่ป่าตอง สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ที่ 15 ภูเก็ต ได้ตรวจสอบพบว่ามีปริมาณตู้ซักผ้าหยอดเหรียญปริมาณมากขึ้นจริง โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว และในเขตชุมชน

แต่อย่างไรก็ตามน้ำทิ้งที่ระบายจากสถานประกอบการตู้ซักผ้าหยอดเหรียญเป็นเพียงส่วนหนึ่งของน้ำทิ้งที่ไม่ได้รับการบำบัด ยังมีน้ำทิ้งจากชุมชน บ้านเรือน อาคารพาณิชย์ โรงแรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอื่น ๆ ในพื้นที่หาดป่าตองเป็นจำนวนมาก

ซึ่งน้ำเสียจากกิจกรรมเหล่านั้นเพียงบางส่วนได้ถูกรวบรวมเข้าสู่ระบบบำบัดรวมในพื้นที่ ซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าวไม่สามารถกำจัดปริมาณสารอาหารในน้ำเสียออกไปได้หมด

อีกทั้งยังไม่สามารถรองรับน้ำเสียได้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ จึงส่งผลให้มีปริมาณสารอาหารลงไปในอ่าวป่าตองเพิ่มขึ้นจนเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี

3. การดำเนินงานที่ผ่านมาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงวันที่ 4-9 กุมภาพันธ์ 2560 นักวิชาการจาก กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 15 ภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และเทศบาลเมืองป่าตอง ร่วมกันตรวจสอบคุณภาพน้ำและสภาพน้ำเปลี่ยนสีบริเวณหน้าหาดป่าตอง ตำบลป่าตอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต และอ่าวกะตะน้อย โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างน้ำทะเลจำนวน 3 จุด เวลาประมาณ 09.00 - 10.00 น.และใช้โดรนบินดูสภาพทั่วไป

เบื้องต้น พบว่า มีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ (DO) มากว่า 6 มก./ล เมื่อเทียบกับบริเวณที่ไม่มีเหตุดังกล่าวมีค่า DO ประมาณ 4 มก./ล. เนื่องจากการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอน

ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าเป็นชนิดไดอะตอมบริเวณอ่าวป่าตอง และไดโนแฟลกเจลเลตประเภทไม่มีผนังเซลบริเวณอ่าวกะตะน้อย

ซึ่งบริเวณอ่าวกะตะน้อยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นมาประมาณมากกว่า 1 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ได้เสนอให้หยุดการขุดลอกคลองและปิดประตูน้ำ และโรงแรมกะตะธานีช่วยสูบน้ำเสียในคลองไปบำบัด จึงทำให้ปริมาณสารอาหารจากน้ำเสียที่ไม่ได้รับการบำบัดมีปริมาณลดลง

จากการตรวจสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ไม่พบการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสีบริเวณอ่าวป่าตองและอ่าวกะตะน้อยแล้วในเบื้องต้นเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำทิ้งจากเครื่องซักผ้าที่มีปริมาณฟอสเฟตเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเมื่อสารละลายฟอสเฟตลงสู่แหล่งน้ำจึงเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการเพิ่มปริมาณของแพลงก์ตอนพืชส่งรวมถึงก่อให้เกิดการสะพรั่งของแพลงก์ตอนทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสี รวมทั้งน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดอื่นๆด้วย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เร่งส่งเสริมให้ใช้ผงซักฟอกที่ใช้สารทดแทนสารประกอบฟอสเฟตในผงซักฟอก เช่น สารซีโอไลท์ (zeolite) ซึ่งจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้

4. ผลกระทบของการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ ผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทางทะเล อาทิ ทำให้สัตว์น้ำตายจากการอุดตันของเซลล์แพลงก์ตอนที่เหงือก และตายจากการขาดออกซิเจนในช่วงเวลากลางคืน โดยเฉพาะสัตว์น้ำในพื้นที่เพาะเลี้ยงชายฝั่ง และเมื่อแพลงก์ตอนพืชปริมาณมากเหล่านี้ตายลงก็จะทำให้เกิดปัญหาคุณภาพของน้ำ เกิดมลพิษทางน้ำ และหากแพลงก์ตอนพืชบางชนิดสามารถสร้างสารชีวพิษที่สามารถถ่ายทอดผ่านห่วงโซ่อาหารและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ได้อีกด้วย

ดังนั้น การป้องกันและแก้ไขปัญหาระยะยาว เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และหลายภาคส่วน เนื่องจากการเกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นเรื่องปลายเหตุ ที่เป็นผลจากการบริหารจัดการน้ำเสียทั้งระบบซึ่งเกิดจากกิจกรรมหลากหลายจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ส่วนกรณีการเกิดน้ำเปลี่ยนสีในพื้นที่หาดป่าตองนั้น ทางท้องถิ่นได้รับทราบถึงปัญหา และได้มีการจัดประชุมเพื่อหามาตรการป้องกันน้ำเปลี่ยนสีหาดป่าตอง กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาต่อไป


ที่มา : http://www.nationtv.tv/main/content/social/378537215/