Admin 25 ก.พ. 2560

พบซากวาฬบรูด้า เกยซอกหิน ทะเลประจวบฯ คาดป่วย-พลัดหลงกับแม่

นางสาวสุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกว่า กรณีพบซากวาฬขนาดใหญ่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขอชี้แจงดังนี้

640_7ifdafik6deh7ah59ai8f

1. หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ลงข่าวพบซากวาฬขนาดใหญ่เกยซอกหินตาย ในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

2. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 เวลาประมาณ 17.00 น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ศวทก.) สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ได้รับแจ้งจากคุณภัสรมนฑ์ ขุนศิริยะ ประมงอำเภอกุยบุรีว่าพบซากวาฬเกยตื้นที่บริเวณบ้านคุ้งโตนด ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (พิกัดที่พบ: N 12.165612 E 100.000715) ซึ่งจากการตรวจสอบจากภาพถ่าย พบว่าเป็นวาฬบรูด้า เพศผู้ ยาวประมาณ 4 เมตร สภาพซากเน่า ลำตัวบวมอืด ช่องเพศเน่า ศวทก. จึงได้ประสานงานเข้าพื้นที่เพื่อผ่าชันสูตรซากในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560

3. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 07.30 น. ทาง ศวทก. ร่วมกับหัวหน้าและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด เข้าตรวจสอบและชันสูตรซากวาฬเกยตื้นดังกล่าว จากการตรวจสอบพบเป็นวาฬบรูด้า เพศผู้ ยาว 5.5 เมตร หนักประมาณ 500-600 กิโลกรัม อายุประมาณ 3-6 เดือน สภาพซากเน่า คาดว่าตายมาแล้วประมาณ 5-7 วัน

640_jaiedbicgj977g5kead5d

ลักษณะภายนอก พบกะโหลก กรามล่าง กระดูกครีบข้างทั้ง 2 ข้าง กระดูกเชิงกรานและกระดูกสันหลังบางส่วนหลุดหาย เนื่องจากถูกคลื่นซัด ผิวหนังบางส่วนหลุดลอก ไม่พบร่องรอยของเครื่องมือประมง เช่น รอยอวน หรือ รอยที่เกิดจากการรัด จากการชันสูตรซาก พบกระดูกซี่โครงซี่แรกมีหัว 2 หัว (Double head of 1st rib)

ซึ่งแสดงว่าเป็นวาฬบรูด้า กล้ามเนื้อบริเวณด้านซ้ายของกลางลำตัว และส่วนหัวมีการบวม ช้ำ ตับเนื้อค่อนข้างเละ กล้ามเนื้อส่วนใหญ่เน่าสลาย อวัยวะภายในหลุดหายบางส่วนและเน่าสลายบางส่วนจนท. จึงทำการเก็บตัวอย่างผิวหนังเพื่อศึกษาพันธุกรรม และกระดูกที่เหลือเพื่อใช้ศึกษาทางชีววิทยาต่อไป

ส่วนสาเหตุการตาย สามารถสันนิษฐานเกิดได้ 2 สาเหตุ ได้แก่

1) ป่วย

2) พลัดหลงกับแม่

ซึ่งทั้ง 2 ข้อสันนิษฐานเกิดร่วมกับสภาพทะเลมีคลื่นลมทำให้สัตว์ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงเกิดการกระแทกทำให้บริเวณกล้ามเนื้อบอบช้ำ (พิกัดที่ฝัง: N 12.172233 E 100.004783)

การดำเนินตามข้อ 1 และ 2 เป็นผลจากการมีเครือข่ายแจ้งเหตุด้านสัตว์ทะเลหายากที่เข้มแข็ง

ซึ่งทาง ทช. กำหนดให้มีการอบรมหลักสูตรช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเป็นประจำ ปีละ 5-8 หลักสูตร โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จึงทำให้ได้รับการแจ้งเหตุอย่างรวดเร็ว และมีเครือข่ายร่วมปฏิบัติงานในการเข้าชันสูตรซากวาฬ ซึ่งมีขนาดใหญ่ต้องใช้กำลังคน พาหนะเคลื่อนย้ายและฝังซาก


ที่มา : http://www.nationtv.tv/main/content/social/378536231/