Admin 19 ก.พ. 2560

ขยะพลาสติกในทะเล ถึงเวลาสังคมต้องตื่นตัว!

natgeo-ocean-trash-graphic

แพขยะยาว 10 กิโลเมตรลอยกลางทะเลอ่าวไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้คนไทยตื่นตัวต่อปัญหาขยะจำนวนมากที่ถูกทิ้งลงทะเล และลอยเกลื่อน ขณะที่เจ้าหน้าที่เร่งเก็บกู้ขนย้าย เพื่อไม่ให้เป็นภาพอุจาดตา แต่นั่นเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของปัญหาขยะในทะเล ยังมีที่ซ่อนอยู่ใต้ท้องทะเล ใต้ผืนทราย หรือแม้แต่ในตัวของสัตว์น้ำ

ที่น่าวิตกยิ่งกว่านั้น ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก ที่ปล่อยขยะพลาสติกลงมหาสมุทร เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคลดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่ต้นทางช่วยลดปัญหาขยะใต้ทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในทะเล  กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดกิจกรรม "Heart for the Ocean : บอกรักทะเล บอกเลิกพลาสติก" ระหว่างวันที่ 14-19 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ I Love my ocean (สร้างรักให้ทะเล)

ในงานมีการแสดงศิลปะจัดวาง "Blue Ocean สาส์นจากทะเล" ผลงานออกแบบจากอาจารย์ป้อม ประสพสุข เลิศวิริยะปิติ ที่ใช้วัสดุส่วนหนึ่งมาจากขยะชายหาดถึง 5  แห่ง คือ หาดไม้ขาว หาดกะรน หาดบางแสน เกาะเสม็ด และเกาะสีชัง และจากขยะในครัวเรือน รวมทั้งมีนิทรรศการภาพถ่ายสะท้อนวิกฤติขยะพลาสติกจากในเมือง ชายหาด และใต้ทะเล

เย็บ ซาโน ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ย้อนไป 20 ปีก่อน มหาสมุทรเป็นที่หลบภัยของนักดำน้ำอย่างตน มีจุดดำน้ำสุดโปรดที่เหมือนสวนใต้น้ำ เจอปะการังหลากสี ดอกไม้ทะเล ปลาสวยงาม แต่วันนี้เมื่อกลับไปที่เดิมอีกได้พบว่ามีขยะมากมาย ทั้งถุงพลาสติก ผ้าอ้อมเด็ก ขวดน้ำ ถุงพลาสติก ส่วนปะการังถูกทำลายด้วยการตกปลาแบบใช้ระเบิดได นาไมต์ งาน Heart for the Ocean ครั้งนี้ เกิดจากความเชื่อในพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ถ้ามาที่นี่จะได้เห็นขยะพลาสติกกลายเป็นชิ้นงานศิลปะสวยงาม หวังว่าเมื่อได้เสพและซาบซึ้งกับงานศิลปะจะช่วยกันปกป้องทะเลและมหาสมุทร ลดและเลิกใช้พลาสติก

"ทุกปีมนุษย์ผลิตพลาสติกใช้มากถึง 300 ล้านตัน เท่ากับน้ำหนักช้าง 55 ล้านตัว และจะมีพลาสติกประมาณ 10 ล้านตันเล็ดลอดเข้าไปอยู่ในท้องทะเลและมหาสมุทรทุกปี เรามีวิกฤติพลาสติกอยู่ในมือ ถ้าไม่แก้ไขลูกหลานจะได้รับมรดกนี้ พลาสติกมัน

ทนมากกว่าที่ธรรมชาติจะทำลายมัน ทะเลไม่ใช่ที่อยู่ของพลาสติกจำนวนมาก เราต้องการชีวิตที่ปราศจากพลาสติก ซึ่งทุกคนร่วมสร้างได้" ผู้อำนวยการกรีนพีซฯ ย้ำสถานการณ์แย่ลงทุกวัน

สอดรับกับข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปี 2558 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง  2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน แบ่งเป็นขยะพลาสติกร้อยละ 80 หรือ 5,300 ตันต่อวัน

ขณะที่องค์การมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ ชี้ผลกระทบขยะในทะเลทำให้นกทะเลตายปีละหนึ่งล้านตัว เพราะกินเศษพลาสติกเข้าไป นอกจากนี้ พลาสติกขนาดเล็กและสารพิษอาจปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร จากปลาใหญ่กินปลาเล็ก ท้ายสุดอาจส่งผลต่อคน

อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ขยะพลาสติกเกิดจากการกินดื่มใช้ชีวิตประจำวันและระบบการคัดแยกขยะของไทยมีปัญหา ทำให้ขยะจำนวนมาก ไม่เฉพาะพลาสติก หลุดเข้าสู่แหล่งน้ำสาธารณะ คูคลอง และออกสู่ทะเล จากการสำรวจล่าสุดเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็พบขยะจำนวนมากลอยอยู่ในคลองลาดพร้าวใกล้บึงพระราม 9 ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อเกิดฝนตกหนัก ขยะขวางทางระบายน้ำ แล้วยังมีที่คลองหัวลำโพงหลังชุมชนคลองเตยมีขยะลอยเกลื่อน ส่วนใหญ่จากกิจกรรมของคน และเป็นไปได้จะเล็ดลอดสู่ทะเล เพราะการจัดการขยะไร้ประสิทธิภาพ

ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเล กล่าวต่อว่า แนวทางแก้ปัญหาสำคัญต้องเริ่มจากตัวเองก่อน คือ ลดใช้พลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้น เช่น เราใช้เวลา 5 นาที ในการใช้หลอดหรือดื่มน้ำจากขวดพลาสติก แต่หลอดใช้เวลาเป็นร้อยปีในการย่อยสลาย ขณะที่ขวดพลาสติกไม่น้อยกว่า 450 ปี ย่อยสลายยาก เพราะโมเลกุลมีความเหนียวแน่นและทนทานสูง

"หัวใจสำคัญปรับพฤติกรรมลดใช้พลาสติก ซึ่งไม่ได้ยากหรือทำให้ชีวิตลำบากอย่างที่คิด พกขวดน้ำ กล่องข้าว เลิกใช้หลอด อยากให้คนไทยตระหนักปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ ระยะยาวอยากเห็นการปัดฝุ่นนโยบายพลาสติก ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริง กรณีแพขยะกลางทะเลอ่าวไทยสร้างความตื่นตระหนกและเกิดกระแสชั่วคราว แต่ปัญหาขยะในทะเล ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ผู้ประกอบการ นำไปสู่การลดใช้พลาสติกแต่ต้นทาง" อัญชลีกล่าว

ผู้ประสานงานคนเดิมแสดงทัศนะด้วยว่า เห็นด้วยกับภาครัฐที่กำลังผลักดันกฎหมายห้ามแจกถุงพลาสติกในจังหวัดริมชายฝั่งของประเทศไทย เพื่อลดปริมาณขยะ กฎหมายนี้ควรมี แต่อาจไม่ใช่ทางออกของปัญหา ยังมีแนวทางอื่นๆ ที่น่าส่งเสริม อาทิ สนับสนุนผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์จากวัสดุย่อยสลายได้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคหรือสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ คงไม่ใช่เพียงแค่ทำพลาสติกย่อยสลายให้เล็กลง เพราะท้ายที่สุดพลาสติกก็ไม่ได้หายไปไหน กลับตกค้างในสภาพแวดล้อม ส่วนการรีไซเคิลต้องยอมรับว่า โรงงานรีไซเคิลก็สร้างผลกระทบทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและน้ำเช่นกัน ฉะนั้น การแก้ปัญหาต้องไม่สร้างปัญหาใหม่และผลักภาระให้ผู้บริโภค สุดท้ายฝากถึงโครงการลดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ที่รัฐจับมือกับภาคเอกชนสิบกว่าแห่ง จำเป็นต้องมีการประเมินผลที่ชัดเจนและมีความต่อเนื่องถึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลดใช้พลาสติกได้อย่างแท้จริง

ความตื่นตัวต่อปัญหาขยะในทะเลยังบอกเล่าผ่าน ศักดาเดช สุดแสวง ผู้นำเครือข่าย Trash Hero นักธุรกิจผู้ผันตัวมาเป็นผู้พิชิตขยะ ปัจจุบันมีเครือข่ายทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ สมาชิกกว่า 30,000 คน ช่วยบรรเทาปัญหาขยะที่หลุดรอดลงทะเล

ศักดาเดชกล่าวว่า จากปัญหาขยะจำนวนมหาศาลในทะเล กลุ่มนี้จึงก่อตั้งขึ้นเมื่อสามปีก่อนที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล สมาชิกเริ่มต้นเพียง 5 คน เราลงเรือไปเก็บขยะ ซึ่งขยะเยอะมาก เก็บเท่าไหร่ก็ไม่หมด ขยะไม่ได้อยู่กลางทะเลเท่านั้น แต่จากชายฝั่งเข้าไป 100 เมตร หรือแม้แต่ใต้ทรายชายหาด ทำงาน 5 ชม.ต่อวัน จากหลีเป๊ะก็ได้รับการติดต่อไปตามเกาะแก่งและชายหาดต่างๆ และมีอาสาสมัครพิชิตขยะเพิ่มขึ้นเป็นร้อย

"ทีวี ตู้เย็น ล้อรถแทรกเตอร์ แล้วยังขยะพลาสติก 3 ปี มีปริมาณขยะเรากู้ขึ้นมา 300 ตัน ปกติจะใช้เรือขนย้ายขยะออกจากพื้นที่ ค่าจ้างเรือคือขยะที่คนเรือจะนำไปขายต่อสร้างรายได้ ขวดพลาสติกนับแสนขวด รองเท้าแตะ 90,000 ข้าง เรานำไปรีไซเคิลกลายเป็นรองเท้าจากขยะ ส่วนที่สะเทือนใจสุดเวลาทำงาน คือ เจอศพปลา เต่า ตายจากการกินเศษพลาสติก รัฐไม่เคยมีนโยบายจริงจังเรื่องขยะพลาสติก แล้วจะหยุดกระบวนการผลิตที่นำขยะปริมาณมหาศาลมาสู่สิ่งแวดล้อมได้ยังไง เห็นว่าทุกคนต้องช่วยลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง" ผู้นำเครือข่าย Trash Hero ย้ำ สังคมต้องตื่นตัวผลกระทบขยะต่อสิ่งแวดล้อมและทะเลถึงจะยับยั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติได้.

ที่มา : http://www.ryt9.com/s/tpd/2603212