Admin
30 มิ.ย. 2564
ชาวบ้านเฮจับกุ้งด้วยมือเปล่าในอ่าวแหลมตะลุมพุก เผยเป็นอาชีพที่สูญหายไปกว่า 10 ปี
ชาวบ้านเฮหารายได้สู้โควิด-19 ฟื้นฟูวิถีประมงพื้นบ้านงมกุ้งด้วยมือเปล่าในอ่าวแหลมตะลุมพุก ประมงเมืองคอนเผยเป็นอาชีพที่สูญหายไปกว่า 10 ปี เร่งฟื้นฟูทรัพยากรสร้างแหล่งรายได้ให้ต่อเนื่อง
วันนี้ (29 มิ.ย.) มีรายงานว่า ชาวประมงในชุมชนแหลมตะลุมพุก ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และในพื้นที่ใกล้เคียงกำลังสร้างรายได้อย่างงามในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยชุมชนและทางการร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวแหลมตะลุมพุก และชาวบ้านเองเป็นแนวร่วมในการปราบปรามเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย จนทำให้อาชีพจับกุ้ง จับปลาดุกทะเลด้วยมือเปล่า กลับมาสร้างรายได้ให้ชาวบ้านอีกครั้ง หลังจากอาชีพนี้สูญหายไปจากพื้นที่ร่วม 10 ปี จากปัญหาเครื่องมือประมงทำลายล้างที่ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก
เมื่อนั่งเรือออกไปยังบริเวณอ่าวแหลมตะลุมพุก พื้นที่หมู่ 1 ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในช่วงระยะนี้จะได้พบเห็นเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กจอดอยู่กลางอ่าวจำนวนมาก แต่ไม่มีคนอยู่บนเรือ ส่วนคนนั้นได้ลงไปอยู่ในทะเล ใช้วิธีการนั่งบนแผ่นกระดาน และไถไปตามดินเลน พร้อมทั้งจับกุ้งที่มีอยู่อย่างหนาแน่นด้วยมือเปล่า ซึ่งเป็นกุ้งที่เรียกว่า ?กุ้งไข่หลัง? หรือ ?กุ้งแชบ๊วย? และผลพลอยได้ในระว่างจับกุ้ง คือ การเจอหอยแครง รวมทั้งจับปลาดุกทะเลที่อาศัยอยู่ในรูดินเลน โดยแต่ละคนนั้นสามารถสร้างรายได้หลายร้อยบาทหรือกว่า 1 พันบาทต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นรายได้อย่างงาม
นอกจากชาวบ้านที่มาจับกุ้งสร้างรายได้ให้กลุ่มคนที่ต้องกลับคืนถิ่นฐานเดิมจากวิกฤตโรคระบาดแล้ว โอกาสยังเป็นของเด็กๆ ที่รอการเปิดภาคเรียนที่เลื่อนออกไปจากผลพวงของการแพร่ระบาดโรคจำนวนไม่น้อย มาช่วยผู้ปกครองหารายได้ในช่วงนี้ด้วย โดยใช้ชีวิตอยู่ในทะเล และไม่ต้องกังวลเรื่องการติดเชื้อ
นายพรศักดิ์ ศักดิ์ธานี ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ประมงจังหวัดได้ร่วมมือกับหลายฝ่าย ที่สำคัญคือชาวบ้านที่ร่วมมือกันสร้างกระโจมบ้านปลา เพื่อเป็นที่พักอาศัยของสัตว์น้ำ และมีวงจรชีวิตที่ดึงดูดสัตว์น้ำหลายสายพันธุ์ตามห่วงโซ่อาหารเข้ามาอาศัย และเป็นการป้องกันเครื่องมือทำลายล้างได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญการคือการมีส่วนของชุมชนที่เฝ้าระวังพื้นที่ วิธีการนี้เพียงแค่ปีเศษเท่านั้น วิถีชีวิตนี้จึงได้กลับคืนมาอีกครั้ง หลังจากที่การทำประมงเช่นนี้ได้ห่างหายไปจากชุมชนมากกว่า 10 ปี และด้วยวิกฤตการณ์โรคระบาดในขณะนี้ ชาวบ้านในชุมชนประมงได้มีอาชีพสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์