Admin
19 พ.ค. 2564
ไม่พบ "สารไฮดราซีน" ตกค้างในถังจรวดเชื้อเพลิงจมทะเลภูเก็ต
ศรชล.ภาค 3 ร่วมกับจิสด้า ร่วมเก็บกู้ถังเชื้อเพลิงจรวดที่พบบริเวณเกาะแอล จ.ภูเก็ต นักวิชาการ ยืนยันไม่พบ "สารไฮดราซีน" ที่เป็นเชื้อเพลิงที่บรรจุในถัง และไม่พบสภาพแวดล้อมใต้ทะเลมีผลกระทบ ด้านผอ.จิสด้า ชงเสนอ “กฎหมายอวกาศ” คุ้มครองขยะอวกาศ
กรณีศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ภาค 3 กองทัพเรือ ประสานความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ส่งผู้เชี่ยวชาญร่วมวางแผนการเก็บกู้ถังเชื้อเพลิงของจรวดที่ถูกนำส่งขึ้นสู่อวกาศ ค้นพบที่บริเวณเกาะแอล จ.ภูเก็ตได้สำเร็จแล้ว
วันนี้ (18 พ.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) แถลงผลการตรวจสอบพบว่า สารไฮดราซีน ที่เป็นเชื้อเพลิงที่บรรจุในถังเชื้อเพลิง น่าจะถูกใช้งานจนหมดเรียบร้อย ประกอบกับการตรวจสอบพื้นที่โดยรอบจุดที่พบ สภาพแวดล้อมทางทะเลปกติมีสัตว์น้ำ ปะการัง หอยเม่น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่าวัตถุดังกล่าว ไม่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ในการเก็บกู้ เจ้าหน้าที่ได้ใช้ความระมัดระวังและป้องกันอย่างเต็มที่ ทั้งทีมเก็บกู้และยุทโธปกรณ์ที่ใช้มีความปลอดภัย ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมด ศรชล.ภาค 3 ตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยประชาชน เจ้าหน้าที่ และผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลในพื้นที่เป็นอันดับแรก ซึ่งหลังตรวจสอบแล้วจะจะทำการส่งมอบวัตถุดังกล่าวให้กับจิสด้า เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยต่อไป
ภาพ:ศรชล.ภาค 3
ชี้ไทยลงนามแค่ 2 ฉบับ-ต้องส่งขยะอวกาศคืนเจ้าของ
ด้านดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) กล่าวว่า ประเด็นชิ้นส่วนขยะอวกาศ มีการพูดถึงกันบ่อยขึ้น เพราะในอวกาศมีวัตถุอวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ รวมแล้วเป็นแสนๆชิ้นดังนั้นอาจจะได้รับผลกระทบไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทำให้ไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา 2 ฉบับจาก 5 ฉบับที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับประเด็นการคุ้มครองขยะอวกาศ คือ สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์ และเคหะในท้องฟ้าอื่นๆ ค.ศ.1967 และอีกฉบับคือความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักอวกาศ การส่งคืนนักอวกาศ และการคืนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ค.ศ.1968
การเจอชิ้นส่วนถังเชื้อเพลิงจรวดที่ จ.ภูเก็ต จึงเท่ากับว่าประเทศไทย ต้องมีความรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมอวกาศ เมื่อมีชิ้นส่วนจากอวกาศไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามตกในไทย ต้องส่งคืนชิ้นส่วนจากอวกาศให้แก่ประเทศผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศทันที หากมีการร้องขอจากประเทศผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศชิ้นนั้น
"ตอนนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดว่าใครเป็นเจ้าของถังเชื้อเพลิงของจรวดตกกลางทะเลภูเก็ต และไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเสียหาย จากวัตถุอวกาศนี้ จึงยากที่จะหาคนมารับผิดชอบ" แต่หลักการหากบุคคลทั่วไปหรือประชาชน เป็นผู้พบวัตถุอวกาศตกในอาณาเขตไทย จึงต้องแจ้งต่อพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องที่ให้ทราบโดยเร็ว
ภาพ:ศรชล.ภาค 3
ขยะอวกาศนับแสนชิ้น-ไทยออกกฎหมายคุ้มครอง
ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้จิสด้า มีความเห็นว่าไทยควรเร่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาอีก 3 ฉบับที่เหลือว่าด้วยความรับผิด ระหว่างประเทศสำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศ ค.ศ.1972 และอนุสัญญาว่าด้วยความรับจากวัตถุอวกาศ ค.ศ.1975 อย่างเร่งด่วน เพราะจะคุ้มครองคนไทยได้ดีกว่าการปรับใช้สนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ.1967 และความตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือและส่งกลับฯ ค.ศ.1968 เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมอวกาศมีมากขึ้น ความเสี่ยงภัยที่คนไทยจะได้รับยิ่งก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามมา
ส่วนไทยหลังจากคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.กิจการอวกาศ พ.ศ..เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2563 ขั้นตอนจากนี้ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เตรียมร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ที่มา: ThaiPBS NEWS