Admin 14 เม.ย. 2564

คิดค้นการทำพลาสติก ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากเศษปลา

1

โพลียูรีเทน (Polyurethanes) เป็นหนึ่งในพลาสติกชนิดที่มีอยู่แทบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า เสื้อผ้า ตู้เย็นและวัสดุก่อสร้าง แต่วัสดุที่มีความหลากหลายเหล่านี้กลับมีข้อเสียสำคัญ เพราะมาจากน้ำมันดิบซึ่งสร้างมลพิษและพิษสิ่งแวดล้อมจากการสลายตัวช้าของโพลียูรีเทน

ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวฟาวแลนด์ ในแคนาดา เผยว่า คิดค้นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าในการย่อยสลายทางชีวภาพ ซึ่งได้มาจากเศษซากปลาอย่างหัว กระดูก ไส้ ผิวหนัง ทีมวิจัยทดลองกับปลาแซลมอนแอตแลนติกในการสร้างวัสดุใหม่ หลังจากที่ปลาถูกแล่เตรียมขายให้กับผู้บริโภค ซากที่เหลือมักจะถูกทิ้ง แต่บางครั้งก็มีการสกัดน้ำมันออกมา ทีมจึงพัฒนากระบวนการเปลี่ยนน้ำมันปลา ให้เป็นโพลียูรีเทน ขั้นแรกคือเติมออกซิเจนลงในน้ำมันปลาด้วยวิธีควบคุมเพื่อสร้างอีพอกไซด์ (Epoxides) อันเป็นโมเลกุลที่คล้ายกับในอีพ็อกซี่ เรซิ่น (epoxy resin) ที่มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานกว่าเรซิ่นชนิดอื่นๆ ทั้งยึดเกาะและป้องกันรอยขีดข่วนได้ดีกว่า ซึ่งหลังจากอีพอกไซด์ทำปฏิกิริยากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว พวกมันจะเชื่อมโยงโมเลกุลที่เกิดขึ้นพร้อมกับเอมีน (amines) ที่มีไนโตรเจนเพื่อสร้างวัสดุใหม่ขึ้นมา

ก่อนหน้านี้มีนักวิจัยพัฒนาโพลียูรีเทนแบบใหม่โดยใช้น้ำมันจากพืชเพื่อทดแทนปิโตรเลียม แต่สิ่งเหล่านี้ก็มาพร้อมกับข้อบกพร่องเช่นกัน เพราะพืชผลซึ่งมักเป็นถั่วเหลืองที่ผลิตน้ำมันได้นั้น ต้องการพื้นที่ในการปลูก ทว่าหากพัฒนาโพลียูรีเทนที่ทำจากน้ำมันปลาสำเร็จ ก็จะตอบสนองความต้องการใช้พลาสติกที่ยั่งยืนมากขึ้น.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์