Admin 1 ธ.ค. 2559

Green Report : ระบบเรดาร์เฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเล

green-report

หนึ่งในปัญหาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คือปัญหาน้ำมันรั่วไหลที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก สร้างความเสียหายในวงกว้าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้พัฒนาระบบเรดาร์ มาใช้แก้ไขปัญหานี้

เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเล เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน พบว่า ตั้งแต่ปี 2557- 2559 เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลถึง 19 ครั้ง ในช่วง 3 ปี ซึ่งทุกครั้งส่งผลกระทบในวงกว้าง ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นบริเวณใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุ จนยากจะควบคุม

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า (gistda)  ดำเนินการติดตั้งสถานีเรดาร์ริมชายหาด โดยเริ่มต้นที่ ชายหาดพยูน อำเภอบ้านฉาง และชายหาดบ้านเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ก่อนเป็นสองจุดแรก เพราะเป็นจุดที่มีนิคมอุตสาหกรรมมาก และในอนาคตจะติดเรดาร์ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย

สถานีเรดาร์ริมชายหาด เป็นอาคารหลังเล็กๆ บนหลังคามีเสาส่งสัญญาณคลื่นวิทยุความถี่สูง ไปยังผิวน้ำทะเล เพื่อตรวจวัดทิศทางเคลื่อนที่ของน้ำ ในรัศมี 30 กิโลเมตร

ประโยชน์ของเรดาร์ ที่สามารถชี้ทิศทางการเคลื่อนที่ของลมและกระแสน้ำทะเลได้ ช่วยให้เมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่วกลางทะเล เจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลของทิศทางลมและกระแสน้ำ ทำให้ง่ายต่อการวางแผนแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ เรดาร์ยังจับข้อมูลของเรือทุกลำในรัศมีได้อีกด้วย เมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลจะทำให้รู้ได้ทันทีว่า มีเรือของบริษัทใดอยู่ในบริเวณนั้นบ้าง ซึ่งง่ายต่อการติดตามจับกุม และเพื่อให้การเอาผิดกับผู้ทิ้งน้ำมันลงทะเลมีความรัดกุมมากขึ้น ทางจิสด้า ยังได้นำภาพถ่ายดาวเทียม มาใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีเพิ่มเติม

ถึงแม้เรดาร์จะช่วยแค่ด้านข้อมูลหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลแล้ว ไม่สามารถนำมาใช้ป้องกันปัญหาการลักลอบทิ้งน้ำมันลงทะเลได้ แต่ข้อมูลที่ได้จากเรดาร์ทุกตัว สามารถยับยั้งให้ปัญหามลพิษในทะเล ลดลงได้มากกว่าที่ควรจะเป็น

เทคโนโลยีเรดาร์ ถูกนำมาใช้ดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ด้านมาแล้วกว่า 4 ปี ผลที่ได้รับ นอกจากป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้แล้ว เรดาร์ยังมีประโยชน์ด้านการเตือนภัยพิบัติทางทะเล ได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

ข้อมูลจากระบบเรดาร์ เป็นข้อมูลส่วนกลางที่ทุกหน่วยงานสามารถนำไปต่อยอดในงานด้านต่างๆ ได้อีกหลายด้าน ทั้งการป้องกันปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง การดูแลพื้นที่ป่าชายเลน และยังนำข้อมูลไปใช้ในงานวิจัยด้านการประมงอีกด้วย

ที่มา : http://s.ch7.com/203694