Admin 11 มี.ค. 2564

หุ่นยนต์นิ่มว่ายน้ำในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา

1

ปัญหาหนึ่งของเรือดำน้ำใต้ทะเลลึกไม่ว่าจะบรรจุคนหรือเป็นปฏิบัติการจากระยะไกล ก็คือการรับมือกับแรงกดมหาศาล เรือจึงต้องออกแบบสร้างให้ทานทนต่อแรงกดที่พบในส่วนที่ลึกที่สุดของทะเล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ล่าสุด ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์และมหาวิทยาลัยลินคอล์น ในอังกฤษ สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว

นั่นก็คือการเลียนแบบความอ่อนนุ่มของปลามาพัฒนาสร้างหุ่นยนต์นิ่ม เนื่องจากมีการวิจัยก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่าเป็นไปได้ที่จะสร้างหุ่นยนต์ที่มีความอ่อนนุ่มจากวัสดุที่ยืดหยุ่น เช่น ซิลิโคนและโพลิเมอร์ชนิดอื่นๆ หุ่นยนต์นิ่มดังกล่าวก็สร้างขึ้นจากโพลิเมอร์ชนิดอ่อน ออกแบบรูปร่างคล้ายปลากระเบน โดยผ่านการประกอบกันของกล้ามเนื้อประดิษฐ์ในตัวซิลิโคน กระแสไฟฟ้าที่ใช้บังคับให้กล้ามเนื้อหดตัวและดึงปีกขึ้น การผ่อนให้ปีกคลายสู่สภาพธรรมชาติ นักวิจัยเผยว่าปัญหาที่ต้องเอาชนะก็คือการเพิ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ ทีมพบว่าการจำลองโครงสร้างของกระดูกปลาสเนลฟิชที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกจะทำงานได้ดีมาก แทนที่จะพยายามบรรจุอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงในกล่องเล็กๆ แต่ทีมได้เว้นช่องว่างและฝังอุปกรณ์นั้นไว้ในซิลิโคน ส่งผลให้แรงบีบคั้นในส่วนประกอบลดลงอย่างมาก

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ทดสอบหุ่นยนต์ในห้องปฏิบัติการก่อนที่จะลองทดสอบในทะเลสาบใกล้เคียง ต่อจากนั้นก็นำไปทดสอบในทะเลจีนใต้ เมื่อพบความสำเร็จในทุกระดับความลึกที่ต้องการทดสอบ ทีมจึงเชื่อมต่อหุ่นยนต์นิ่มเข้ากับเรือดำน้ำแบบเดิมๆ และส่งมันลงไปในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา ซึ่งพบว่าอุปกรณ์นี้ใช้งานได้ดีเช่นกัน.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์