Admin 27 ม.ค. 2564

เผยปริศนา"วาฬอำแพง "อายุกว่า 3,380ปี สะท้อนทะเลไทย อาจเคยมีวาฬขนาดยักษ์อยู่อาศัย

1

ส่วนสีแดงคือ ชิ้นส่วนที่ค้นพบกระดูกของวาฬอำแพง

25 ม.ค.63 - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี แถลงข่าว ?ทธ. เผยปริศนา...อายุวาฬอำแพง ย้อนเวลาสู่อดีตทะเลโบราณ? เผยได้นำชิ้นส่วนกระโหลกวาฬส่งพิสูจน์อายุพบว่า วาฬอำแพงมีอายุ 3,380 +/-30 ปี ถือว่ามีสภาพเป็นซากฟอสซิลสมบูรณ์ถึง 90% และพบซากชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ บาลีนและกระดูกหู ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี(ทธ.) เปิดเผยว่า จากการค้นพบโครงกระดูกวาฬอำแพง ตำบลอำแพง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ได้ส่งตัวอย่างกระดูกบริเวณส่วนหัวกะโหลกที่แตกหัก 1 ชิ้นประมาณ 100 กรัม ไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 (C-14) ที่ห้องปฏิบัติการบริษัท เบต้า จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการชั้นนำด้านการหาอายุด้วยวิธีคาร์บอน 14 AMS ทราบว่า วาฬอำแพงมีอายุ 3,380 ปี +/-30 ปี หรือมีอายุมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อทางธรณีวิทยากับโบราณคดี โดยสามารถบ่งบอกสภาพแวดล้อมในอดีตได้ว่า เป็นช่วงที่เริ่มมีอารยธรรม พบสิ่งมีชีวิต หรือเริ่มเข้าสู่ในยุคอาณาจักรศรีวิชัย หลังจากนี้อาจจะสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและระดับน้ำทะเล ที่จะมีผลกระทบต่อที่ลาบลุ่มภาคกลางจะเป็นอย่างไรต่อไป

2

กระดูกต้นแขนและกระดูกปลายแขน

อธิบดี ทธ. กล่าวเพิ่มว่า เมื่อกลางเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการอนุรักษ์ตัวอย่างชิ้นสุดท้ายชิ้นที่ 128 คือ เฝือกส่วนกะโหลก และกระดูกหู 2 ข้าง ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการจำแนกสายพันธุกรรมโบราณและวิวัฒนาการของวาฬ อีกทั้งยังเป็นการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย เพราะกระดูกหูถือว่าเป็นส่วนที่ค้นพบได้ยากมากๆ ยังพบบาลีนหรือ ส่วนขากรรไกรบน (ซ้าย-ขวา) กว้าง 40 เซนติเมตร และชิ้นส่วนนิ้วเพิ่มอีกจำนวน 3 ข้อ สรุปชิ้นตัวอย่างโครงกระดูกวาฬ จำนวนรวมทั้งสิ้น 138 ชิ้น และจะทำการศึกษาต่อไปถึงสรีระของวาฬ วิวัฒนาการของวาฬในอดีตเชื่อมโยงปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ณ ขณะนี้โครงกระดูกวาฬเพื่อทำการอนุรักษ์ตัวอย่าง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี และหากสถานที่ของทางจังหวัดสมุทรสาครที่จะนำชิ้นกลับไปดูแลอนุรักษ์ เป็นสมบัติของจังหวัด ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

3

ส่วนกระดูกมือและนิ้ว

ภายในงานเสวนา สภาพแวดล้อมบรรพกาลกับวาฬอำแพง นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การจำแนกชนิด"วาฬอำแพง" ชิ้นส่วนที่สามารถนำมาจำแนกได้ อย่าง ส่วนของกระดูกจมูก พบว่ากระดูกจมูกวาฬอำแพง ยังไม่มีความชัดเจน แต่ได้ให้น้ำหนักใกล้เคียงกับ วาฬบรูด้า ที่มีลักษณะโค้งงอและเส้นตรง แต่อีกส่วนที่สำคัญที่สามารถพิสูจน์ชนิดได้ คือด้านข้างของกะโหลก แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์เพราะกระโหลกมีความชำรุด

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ ที่น่าสนใจคือ มีการพบว่าวาฬอำแพง ที่มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับวาฬ Sei Whale แต่ทั้งนี้ขนาดของวาฬอำแพงเมื่อโตเต็มไวมีขนาดประมาณ 12.5 เมตร ซึ่งใหญ่กว่า วาฬบรูด้า แต่เล็กกว่าวาฬ Sei Whale ที่มีขนาด 15 เมตร อีกทั้งยังไม่พบการแพร่กระจายในประเทศไทย ดังนั้นยังคงไม่ข้อสรุปเรื่องชนิดวาฬ จะต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมที่อาจจะทำให้พบชนิดพันธุ์เพิ่มขึ้นได้

ที่มา: ไทยโพสต์