Admin 8 ก.พ. 2560

กรมเจ้าท่า สัมมนารับฟังความคิดเห็นในการเสริมทรายชายหาดสมิหลา จ.สงขลา

1486530670_7

กรมเจ้าท่า จัดสัมมนาโครงการจ้างเหมาก่อสร้าง โครงสร้างป้องกันกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณหาดสมิหลา จังหวัดสงขลา เพื่อนำเสนอข้อมูลความเป็นมา รายละเอียดแนวทางการแก้ไข แผนการก่อสร้างและมาตรการป้องกันผลกระทบในระยะก่อสร้างของโครงการฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีนายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า เป็นประธานเปิดงาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชน เข้าร่วมการสัมมนา ในวันที่ 31 มกราคม 2560  เวลา 13.30 น. ณ โรงแรมราชมังคลา พาวิลเลี่ยน บีช รีสอร์ท อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

อย่างไรก็ดี หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา ถือได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อสียงโด่งดังไปทั่วโลก เนื่องจากมีหาดทรายขาว น้ำทะเลใส มีกิจกรรมนันทนาการและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ในปัจจุบันหาดสมิหลากำลังประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงและต่อเนื่องจากคลื่นลมพายุ สภาวะโลกร้อน และการขยายตัวของชุมชน ทำให้สูญเสียพื้นที่ชายฝั่งไปแล้วกว่า 23.4 ไร่    กรมเจ้าท่าจึงได้ดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น

โดยการดำเนินงานจะเริ่มจากบริเวณหลังสนามกีฬาติณสูลานนท์ไปถึงหาดเก้าเส้ง รวมระยะทาง 3.6 กิโลเมตร มีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 750 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 – 20 มิถุนายน 2561 มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 269 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 กม. 0 + 000 - กม. 1 + 200 เวลา 60 วัน ระยะที่ 2 ตั้งแต่ กม.1 + 200 - กม.2 + 400 เวลา 120 วัน และระยะที่ 3 ตั้งแต่ กม.2 + 400 - กม.3 + 680 เวลา 120 วัน โดยระยะเวลาดำเนินการนี้ไม่รวมช่วงมรสุมและการจัดหาและพิจารณาคุณสมบัติทราย โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชายหาดให้กว้างขึ้นอีกประมาณ 50 -150 เมตร ตามแนวยาวของหาด

ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1.การขุดลอกและขนย้ายทราย ใส่ในเรือบรรทุกทรายและไปยังบริเวณที่ต้องการเติมทราย 2.การเติมทรายบริเวณชายหาดสมิหลา โดยการเติมทรายจะปิดพื้นที่ชายหาดเป็นช่วง ช่วงละประมาณ 400 เมตร เมื่อเติมทรายแล้วเสร็จจะเปิดให้ใช้พื้นที่แล้วเลื่อนไปดำเนินการในช่วงถัดไป ทำให้พื้นที่ชายหาดสามารถดำเนินกิจกรรมทางน้ำและกิจกรรมเดินเรือได้ตามปกติ

โดยการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลา คือ การเสริมทรายชายหาด ซึ่งเป็นวิธีการที่มาจากผลสรุปความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่เข้าร่วมการประชุมชี้แจงโครงการฯและการรับฟัง ความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา โดยวิธีการนี้เป็นการนำทรายที่ถูกกัดเซาะและพัดพาไปตกตะกอนทับถมบริเวณแหลมสนอ่อน กลับมาถมเติมพื้นที่เพื่อช่วยรักษาสภาพของชายหาดสมิหลาไว้ให้เหมือนเดิม ซึ่งก่อสร้างได้ง่าย ค่าก่อสร้างถูก ไม่กีดขวางการเคลื่อนตัวของทรายชายฝั่ง และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียงน้อยที่สุดอีกด้วย

นอกจากนี้ ได้นำเสนอมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชนในระหว่างการก่อสร้างโครงการที่สำคัญ อาทิ การตรวจสอบเครื่องจักรให้อยู่สภาพพร้อมใช้งานเพื่อลดควันไอเสีย, การติดตั้งรั้วโลหะทึบเพื่อลดความดังของเสียง, การติดตั้งม่านดักตะกอนล้อมรอบพื้นที่ขุดลอกและพื้นที่เสริมทราย, การจัดให้มีทุ่นสัญลักษณ์แสดงขอบเขตการดำเนินการ ให้ชัดเจน เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายหลังจากการสัมมนาฯ กรมเจ้าท่าจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้เข้าร่วมสัมมนาไปพิจารณาประกอบในรายงานการควบคุมการก่อสร้างของโครงการฯ ต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ www.md.go.th/engineering กองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า หมายเลขโทรศัพท์ 02 233 1311 – 8 ต่อ 291

ที่มา : http://www.siamturakij.com/news/