Admin 7 ม.ค. 2564

“หาดดังบาหลี” เจอคลื่นพัดขยะเข้าฝั่งจนกลายเป็น “ชายหาดขยะ” สะท้อนวิกฤติขยะในทะเล

ภาพข่าวจากสำนักข่าว CNN สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาขยะในทะเล ซึ่งในช่วงที่มีลมมรสุม ทำให้คลื่นทะเลพัดพาขยะจากในทะเลเข้าหาชายฝั่ง จนทำให้ชายหาดชื่อดังหลายแห่งของบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เต็มไปด้วยขยะมากมาย


1

ชายหาดชื่อดังของบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย กำลังเผชิญปัญหาขยะที่ถูกพัดพาจากในทะเลเข้ามายังชายฝั่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกปีช่วงมรสุม เนื่องจากปัญหาการจัดการขยะ และปัญหาวิกฤมลพิษขยะในทะเลทั่วโลก

เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลของพื้นที่ Badung กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทำงานกันอย่างหนักในการทำความสะอาดชายหาด แต่ก็ยังคงมีขยะในจำนวนมากทุกวัน ทั้งที่ชายหาดกูตา เลเจียน และเซมินยัค ซึ่งเป็นชายหาดท่องเที่ยวชื่อดังของบาหลี ขยะจากท้องทะเลราว 70% เป็นขยะพลาสติก โดยขยะเหล่านี้จะถูกตัก และขนโดยรถบรรทุกไปยังสถานที่ฝังกลบ

ทางรัฐบาลอินโดนีเซีย มีแผนการลดขยะพลาสติกในประเทศ ลดขยะพลาสติกในมหาสมุทรลง 70% ภายในปี 2568 และปลอดมลภาวะจากพลาสติกภายในปี 2583

2

แต่ทั้งนี้ ดร. เดนิส ฮาร์เดสตี้ นักวิจัยหลักของหน่วยงานวิทยาศาสตร์ CSIRO ของออสเตรเลียและผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษพลาสติกทั่วโลก ได้กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเก็บพลาสติกจำนวนมหาศาลจากชายหาด และในแต่ละปีสถานการณ์ก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ สำหรับในอินโดนีเซีย มีหมู่เกาะจำนวนมากที่ประสบชะตากรรมคล้ายกัน และชายหาดของบาหลีทางตะวันตกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่จะได้รับขยะจากทะเลมากกว่าเมื่ออยู่ในช่วงฤดูมรสุม ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นตามการผลิตพลาสติกทั่วโลก และในประเทศที่อยู่ในเขตลมมรสุมนั้นจะได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกเหล่านี้รุนแรงมากกว่าในพื้นที่อื่น

ทางด้านหัวหน้าศูนย์การสำรวจระยะไกลและวิทยาศาสตร์ในมหาสมุทรที่มหาวิทยาลัย Udayana ของบาหลี กล่าวว่าปัญหาสำคัญคือระบบการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพของอินโดนีเซีย สำหรับในบาหลีนั้นเพิ่งเริ่มมีการจัดการระบบใหม่ รวมถึงพื้นที่ชวาด้วย

นอกจากชายหาดชื่อดังในบาหลีจะเผชิญผลกระทบจากปัญหาขยะชายหาดที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปีแล้ว ในปีที่ผ่านมานี้ก็ยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลง เช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในบาหลี ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ที่ประเทศอินโดนีเซียยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ ซึ่งบาหลีพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก จึงทำให้เศรษฐกิจของบาหลีได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยปัจจุบันมีเพียงนักท่องเที่ยวภายในประเทศเท่านั้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์