Admin 12 พ.ย. 2563

ชนิดใหม่โลก! ฟอสซิล "ปลาปอด" 150 ล้านปี จากแหล่งภูน้อย

กรมทรัพยากรธรณี พบซากฟอสซิลปลาปอด ชนิดใหม่ของโลกตั้งชื่อ เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป อายุ 150 ล้านปีจากแหล่งภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ พบชิ้นส่วนกะโหลก-แผ่นฟันที่หายากในระดับโลก

1

วันนี้ (11 พ.ย.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่ากรมทรัพยากรธรณี ได้เปิดผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป ถูกค้นพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ จัดเป็นปลาโบราณที่พบมาตั้งแต่ 417 ล้านปี ซึ่งเป็นผลการศึกษาวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์ปลา Dr.Lionel Cavin พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเจนีวา ร่วมกับ ดร.อุทุมพร ดีศรี อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิท ยา และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี

โดยฟอสซิลปลาปอดที่พบบริเวณภูน้อย จัดอยู่ในสกุลเฟอกาโนเซอราโตดัส แต่มีความแตกต่างจากชนิดอื่น ตั้งชื่อเฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป (Ferganoceratodus annekempae) เพื่อเป็นเกียรติแก่นาย Anne Kemp ผู้เชี่ยวชาญปลาปอดของโลก

สำหรับชิ้นส่วนซากฟอสซิลปลาปอดที่ค้นพบ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนของกะโหลกและแผ่นฟัน คาดเป็นชิ้นส่วนจากปลาตัวเดียวกัน ณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เพราะปลาปอดจัดเป็นปลาโบราณที่พบปรากฏมาเมื่อ 417 ล้านปี หรือในยุคดีโวเนียนแล้วยังคงพบในปัจจุบัน แต่ซากฟอสซิลปลาปอดที่พบครั้งนี้มีอายุประมาณ 150 ล้านปี ลักษณะของปลาปอด คือ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก ครีบอกและครีบท้องมีลักษณะเป็นเนื้อหุ้ม ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดแบบคอสมอยด์ ฟันมีลักษณะเป็นแผ่นฟัน

"ซากฟอสซิลปลาปอดสกุลเฟอร์กาโนเซอราโตดัส ถือเป็นซากฟอสซิลหายาก โดยเฉพาะส่วนกะโหลก ที่ผ่านมาสกุลนี้พบในจีน รัสเซีย และไทยเท่านั้น จึงความสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก"

2

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

แหล่งภูน้อยพบซากฟอสซิลของโลก

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ซากฟอสซิลในชั้นหิน เป็นเสมือนสมุดบันทึกที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกในอดีตกาล เป็นบันทึกที่มีการเรียงร้อยเรื่องราวที่อุบัติขึ้นตามลำดับเวลาที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละเฉพาะพื้นที่ของโลก จึงมีความสำคัญในการศึกษาธรณีวิทยาด้านการลำดับชั้นหินและธรณีประวัติ

ผลการวิจัยสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก และเป็นหลักฐานแสดงถึงความหลากหลายชีวภาพของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อยู่ในพื้นที่ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ อยู่ในหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราช ยุคจูแรสซิกตอนปลาย มีอายุ 150 ล้านปี พบ New Species ของสัตว์มีกระดูกสันหลังร่วมสมัย 6 สายพันธุ์ใหม่ของโลก คือ ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง ปลาปอด เต่า และจระเข้ ถือเป็นแหล่งซากฟอสซิลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และเป็นแหล่งที่มีการค้นพบซากฟอสซิลกระดูกสันหลังมากที่สุดในไทยกว่า 5,000 ชิ้น

"ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นซากฟอสซิลไดโนเสาร์ และยังพบซากร่วมสมัยอื่นๆ ได้แก่ ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เทอโรซอร์ จึงถือเป็นพื้นที่ที่ทรงคุณค่าทางวิชาการ "

ไทยพบฟอสซิลสกุลใหม่ของไทย-โลก 595 ชนิด

ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณี ได้ประกาศให้พื้นที่ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2563 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 ขณะที่งานวิจัยจากกรมทรัพยากรธรณี ค้นพบซากฟอสซิลชนิดและสกุลใหม่ของไทยและของโลกรวม 595 ชนิด (สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 333 ชนิด สัตว์มีกระดูกสันหลัง 110 ชนิด พืช 48 ชนิด และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่น ๆ 104 ชนิด) เช่น ฟอสซิล "แม่เมาะซิออน โพธิสัตย์ติ" หรือหมาหมี อายุ 13 ล้านปี พบที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง พบในปี 2549 ฟอสซิลอุรังอุตัง "เอปโคราช" อายุ 9-7 ล้านปี พบที่อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ฟอสซิล "ไฮยีนาลายจุด" อายุ 200,000?80,000 ปี พบที่ถ้ำเขายายรวก จ.กระบี่ และฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทย 12 สายพันธุ์

ที่มา: ThaiPBS NEWS