Admin 8 ต.ค. 2563

ปตท.โชว์นวัตกรรมพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน “โซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเล” แห่งแรกของไทย

นำร่องผลิตไฟป้อนใช้ภายในกลุ่มปตท.โดยใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ InnoPlus HD8200B เพิ่มสารลดการสะสมของเพรียงทะเล อายุการใช้งานกลางแจ้งยาวนาน 25 ปี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเล สร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจด้วยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ผิวน้ำ พร้อมเดินหน้าขยายการติดตั้งให้แก่ผู้สนใจทั่วไป

1

วันนี้ (6 ตุลาคม 2563) วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย สอดรับกับนโยบายรัฐในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

โดยได้ริเริ่มโครงการนำร่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ในพื้นที่บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งมีพื้นที่ติดทะเลเหมาะกับการเป็นต้นแบบติดตั้งการใช้งาน โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษเพื่อนำมาผลิตทุ่นลอยน้ำ เพิ่มสารลดการสะสมของเพรียงทะเล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเล และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ในฐานะแกนนำการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของ กลุ่ม ปตท. ได้ให้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) เป็นผู้ออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล โดยในระยะแรกจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ภายในสำนักงาน เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษาและพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ

“โครงการนี้ เป็นการผสานความเชี่ยวชาญของ กลุ่ม ปตท. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อบริหาร จัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และนับเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล ที่ไม่เพียงมีส่วนสำคัญในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด แต่ยังมีส่วนช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมที่ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy Business) ที่กลุ่ม ปตท. ได้วางเป้าหมายไว้” วิทวัส กล่าว

2

ปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) กล่าวว่า เพื่อตอบสนองการใช้งานทุ่นลอยน้ำชนิดลอยในทะเล ที่มักประสบปัญหาการเกาะสะสมของเพรียงทะเล และการใช้งานกลางแดดจัด ทำให้ทุ่นลอยน้ำเกิดความเสียหายและอายุการใช้งานสั้น GC จึงได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก InnoPlus HD8200B ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก ขึ้นรูปได้ง่าย ช่วยลดความหนาเมื่อนำมาอัดรีดเป่าขึ้นรูปในแม่พิมพ์ (Extrusion blow molding) เป็นทุ่นลอยน้ำ

นอกจากนี้ ยังเป็นเป็นทุ่นลอยน้ำต้นแบบที่เพิ่มสารต้านการยึดเกาะและลดการเกาะสะสมของเพรียงทะเลเป็นครั้งแรก ได้การรับรองตามมาตรฐานการสัมผัสอาหาร (Food Contact Grade) มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และสารแต่งเติมป้องกันรังสี UV รับประกันความทนทานต่อรังสี UV 25 ปี ทำให้จากผลการทดสอบที่ผ่านมา พบว่าทุ่นลอยน้ำในโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์ ซึ่งลอยอยู่ในน้ำทะเลมีการเกาะสะสมของเพรียงทะเลน้อยลง มีความทนทานต่อการใช้งานกลางแจ้งได้ดีเยี่ยม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสัตว์และพืชทะเล 

GC ยังคงมุ่งพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุ่นลอยน้ำมีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้น สามารถต้านการยึดเกาะและลดการสะสมของเพรียงทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน (Application-based) รวมถึงต่อยอดสู่การออกแบบแม่พิมพ์ทุ่นลอยน้ำรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการใช้งานที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ด้าน ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) กล่าวว่า GPSC ซึ่งเป็นแกนนำด้านนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ได้ให้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 100% เข้าร่วมพัฒนาโครงการต้นแบบการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงานของประเทศ โดยมีความแตกต่างจากการพัฒนาระบบโซลาร์ลอยน้ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และได้ผ่านการทดสอบทางด้านประสิทธิภาพและเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งในด้านคุณภาพการจ่ายไฟฟ้า ความคงทนต่อการกัดกร่อนจากความชื้น และความเค็มของน้ำทะเล โดยโครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จของกลุ่ม ปตท. ที่ได้มีการผสานเทคโนโลยี ทั้งด้านเคมีภัณฑ์ และนวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพร้อมที่จะนำแนวทางของการพัฒนานวัตกรรมใหม่ครั้งนี้ ไปสู่การพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเหมาะสมทั้งในและต่างประเทศต่อไป

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) กล่าวว่า จากการติดตั้งระบบต้นแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) ขนาด 100 กิโลวัตต์ สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้กับ PTT Tank ปีละ 390,000 บาท ตลอดอายุโครงการที่ 7.8 ล้านบาท และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 36 ตัน ตลอดอายุโครงการกว่า 725 ตัน เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และสร้างแหล่งเรียนรู้พลังงานหมุนเวียนให้กับชุมชน เยาวชนในพื้นที่รวมถึงผู้ที่มีความสนใจทั่วไป

คมสัน ศักดิ์ศรีวัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) กล่าวว่า การติดตั้ง Floating Solar ในน้ำทะเล แตกต่างจากการติดตั้งในบ่อน้ำทั่วไป เนื่องจากต้องมีการคำนึงถึงระดับน้ำทะเลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องออกแบบการคำนวณระบบยึดโยงตามหลักวิศวกรรม และความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบริเวณทะเลนี้ เช่น ระดับความสูงของคลื่น ความเร็วลม เพื่อให้การยึดโยงแผงและทุ่นลอยน้ำมีความแข็งแรง รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ทั้งนี้ CHPP ยังมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับทุ่นลอยน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ ให้ CHPP ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการผลิต และจำหน่ายทุ่นลอยน้ำชั้นนำของประเทศไทย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์