Admin 28 ก.ย. 2563

คลื่นความร้อนวงกว้างในมหาสมุทรเกิดบ่อยครั้งกว่าเดิม 20 เท่าจากฝีมือมนุษย์

ปรากฏการณ์ที่มีมวลน้ำอุ่นผิดปกติก่อตัวขึ้นเป็นบริเวณกว้างในมหาสมุทร หรือที่เรียกกันว่า "คลื่นความร้อนทางทะเล" (marine heat wave) นั้น แม้อาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันมีหลักฐานที่ชี้ว่า พบคลื่นความร้อนใต้ผืนน้ำได้บ่อยครั้งขึ้นอย่างน่าตกใจ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจากการกระทำของมนุษย์

2

มีการวิเคราะห์ข้อมูลที่บันทึกไว้ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา จนพบว่าในช่วงหลัง ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนทางทะเลแต่ละครั้งมีความรุนแรงและกินเวลายาวนานมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นบ่อยถี่กว่าแต่ก่อนอย่างมากถึง 20 เท่า ในมหาสมุทรทุกแห่งของโลก

รายงานวิจัยที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเบิร์นของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งลงตีพิมพ์ในวารสาร Science ระบุว่า ในสิบปีแรกของช่วงเวลาที่ทำการศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างปี 1981-2017 โลกมีปรากฏการณ์คลื่นความร้อนทางทะเลครั้งใหญ่เกิดขึ้นทั้งสิ้น 27 ครั้ง โดยคลื่นความร้อนคงตัวอยู่เป็นเวลาราว 32 วันก่อนจะสลายไป และทำให้ผืนน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว 4.8 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลข้างต้นกับช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษหลังจากนั้น พบว่าในช่วงสิบปีสุดท้ายของการศึกษา กลับมีปรากฏการณ์คลื่นความร้อนทางทะเลครั้งใหญ่เกิดเพิ่มขึ้นถึง 172 ครั้ง โดยคลื่นความร้อนคงตัวอยู่เป็นเวลานานขึ้นราว 48 วัน และทำให้ผืนน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว 5.5 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังนำข้อมูลทางสถิติที่วิเคราะห์ได้ข้างต้นไปสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ เพื่อคำนวณหาแนวโน้มความถี่ของการเกิดคลื่นความร้อนทางทะเลครั้งใหญ่ในอนาคตด้วย

3

ที่นอกชายฝั่งอเมริกาเหนือ มวลน้ำอุ่นผิดปกติซึ่งเกิดจากคลื่นความร้อนทางทะเลทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี

มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า หากปล่อยให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนทางทะเลจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 1 ทศวรรษ หรือรอบ 1 ศตวรรษ แต่หากปล่อยให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีก 3 องศาเซลเซียส ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งในทุกปี หรือทุก 1 ทศวรรษ ซึ่งนับว่าเป็นแนวโน้มที่น่ากลัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมที่คลื่นความร้อนทางทะเลครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งในรอบหลายร้อยปีหรือหลายพันปี

ความเปลี่ยนแปลงอย่ารวดเร็วดังกล่าว เกิดขึ้นในยุคที่มนุษย์เร่งพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งชี้ว่าการกระทำของคนยุคใหม่มีอิทธิพลต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลก รวมทั้งการเกิดคลื่นความร้อนทางทะเลที่บ่อยถี่ผิดปกตินี้ด้วย

ทีมผู้วิจัยบอกว่าการที่ผืนน้ำกว้าง 1.5 ล้านตารางกิโลเมตรในมหาสมุทร มีอุณหภูมิสูงขึ้น 5.5 องศาเซลเซียสเป็นเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ ก็สามารถจะสร้างความเสียหายถาวรต่อระบบนิเวศใต้ทะเลได้อย่างมหาศาลแล้ว เช่นทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง สารอาหารในทะเลลดลง รวมทั้งสัตว์น้ำล้มตายและต้องอพยพสู่เขตที่มีน้ำเย็นกว่า

ที่มา: BBC