Admin 1 ก.ย. 2563

อังกฤษรณรงค์เลิกต้มกุ้งเป็นๆ หลังรายงานแพทย์ยัน กุ้งก็มีความรู้สึกเจ็บปวด

สมาคมสัตวแพทย์อังกฤษ รณรงค์เหล่าเชฟเลิกต้มกุ้งที่ยังไม่ตาย หลังรายงานการแพทย์ยืนยันว่า กุ้งก็มีประสาทสัมผัสรับรู้ความเจ็บปวด ต่างจากที่เราเคยรับรู้ก่อนหน้านี้ว่า กุ้งเป็นสัตว์ไม่มีความรู้สึก

1

วันที่ 30 ส.ค. สมาคมสัตวแพทย์อังกฤษ (British Veterinary Association) นำเสนอเรียกร้องให้บรรดาเชฟ และคนที่ปรุงอาหาร เลิกใช้วิธีการโยนกุ้งอย่างล็อบสเตอร์ หรือเครย์ฟิช ที่ยังเป็นๆ ลงไปในหม้อต้มที่มีน้ำเดือด เพื่อหลีกเลี่ยงการทารุณกรรมต่อสัตว์ แม้เป็นที่เชื่อกันว่าอาหารทะเลที่ถูกปรุงสดแบบเป็นๆ จะมีรสชาติดีกว่า และสัตว์ทะเลมีเปลือกอย่างกุ้งปู และหอยไม่มีประสาทรับรู้ความรู้สึก แต่ล่าสุดมีรายงานยืนยันทางการแพทย์ที่ระบุว่า สัตว์จำพวกมีเปลือก ต่างมีความรู้สึกและความเจ็บปวด เมื่อเราใส่กุ้งที่ยังไม่ตายลงไปในหม้อที่มีน้ำเดือด อาจทำให้กุ้งต้องรู้สึกเจ็บปวดทรมานเป็นเวลานานถึง 15 นาทีในหม้อต้มกว่าที่จะตาย โดยแนะนำให้บรรดาเชฟใช้กระบวนการน็อกกุ้งให้สลบ ก่อนนำไปต้มหรือปรุงด้วยความร้อน

โดยนับเป็นครั้งแรกที่สัตวแพทย์กว่า 18,000 คนรวมตัวกันอ้างอิงผลการศึกษาทางการแพทย์ เพื่อเรียกร้องให้เชฟช่วยกันปกป้องกุ้งและปู ไม่ให้พวกมันต้องเจ็บปวดทรมานก่อนตาย โดยในข้อเรียกร้องระบุว่า อังกฤษเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศรักสัตว์แต่กุ้งและปูในอังกฤษกลับถูกลืมมาโดยตลอด สิ่งที่เกิดขึ้นกับชะตากรรมของพวกมันไม่ต่างจากการสังหารหมู่อย่างทารุณและไม่อาจยอมรับได้ ถึงแม้ว่าจะถูกน็อกให้สลบด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าแล้ว แต่พวกมันยังคงต้องทรมานประมาณ 3 นาทีกว่าจะตายสนิท

ล่าสุดพบว่าเชฟชั้นนำหลายรายออกมาสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ อย่าง "จิออร์จิโอ โลคาเทลลี" เซเลบริตี้เชฟเจ้าของ "โลคานดา โลคาเทลลี" ร้านอาหารระดับดาวมิชลิน ในกรุงลอนดอน บอกว่าในครัวของที่ร้าน เริ่มใช้อุปกรณ์น็อกกุ้งและปูด้วยไฟฟ้า ซึ่งยังช่วยไม่ให้กุ้งและปูหลั่งฮอร์โมนเวลาที่ตกใจกลัวออกมา เนื้อกุ้งและปูจะมีรสชาติดีขึ้นด้วย

ที่ผ่านมา สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายห้ามปรุงสัตว์มีเปลือกอย่างกุ้ง ปูและหอย ตอนที่มันยังไม่ตาย ตั้งแต่ปี 2561 จากนั้น นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ ออสเตรีย และบางรัฐในออสเตรเลียก็เริ่มทยอยออกกฎหมายบังคับใช้ตามมา

ในขณะที่ล่าสุดกระทรวงกิจการท้องถิ่น อาหาร และสิ่งแวดล้อม ของอังกฤษ ระบุว่า เตรียมจะพิจารณาข้อเสนอนี้เนื่องจากมาตรฐานสวัสดิการการชำแหละสัตว์ของอังกฤษ อยู่ในระดับสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์