Admin 28 ส.ค. 2563

ทช.คุมเข้มกู้เรือราชา 4 ถ้ากระทบสิ่งแวดล้อมพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย

ทช.คุมเข้มกู้เรือราชา 4 ถ้าพบทำกระทบต่อระบบนิเวศ สร้างความเสียหายต่อปะการัง สัตว์ทะเล หญ้าทะเล มีโทษตามผิดตามกฎหมาย ผู้เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ

7

เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (26 ส.ค.) ที่ห้องประชุมของบริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) ฝั่งดอนสัก ผู้บริหารบริษัทและตัวแทนบริษัทผู้รับเหมากู้เรือราชา 4 ที่จมเมื่อคืนวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 5 ศพ และมีขยะอัดก้อน จำนวน 90 ตัน ที่อยู่ในรถบรรทุก 10 ล้อ จำนวน 3 คัน โดยขณะนี้ทางบริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) ได้ว่าจ้างบริษัท เอ็ม.เอส.เซอร์วิส จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญในการกู้เรือ มาเสนอแผนการกู้เรือราชา 4 ให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาก่อนที่จะทางคณะกรรมการจะนำแผนเสนอต่อนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนกรมทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่ได้รับนโยบายจาก รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อ และอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่เฝ้าติดตามการกู้เรือเฟอร์รี่ราชา 4 และการเก็บกู้ขยะ จำนวน 90 ตัน อย่างใกล้ชิด ได้กำหนดแผนเป็นขั้นเป็นตอนที่ประกอบด้วย ประสานกับทางบริษัทราชาเฟอร์รี่และบริษัทผู้รับเหมาขนขยะที่เป็นคู่สัญญากับทางเทศบาลนครเกาะสมุย

โดยกำหนดให้มีการเก็บกู้ขยะ เก็บกู้รถ กู้เรือโดยเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้นานอาจเกิดปัญหาขยะที่อยู่ในถุงบิ๊กแบ็กติดที่อยู่ในรถบรรทุกและติดอยู่ภายในท้องเรือหลุดไปตามกระแสน้ำ จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในท้องทะเลและชายฝั่ง ส่วนการดำเนินการกู้เรือนั้นจะต้องมีความระมัดระวังไม่ให้ขยะหลุดลอยออกมาจนกระทบต่อระบบนิเวศ จากการประเมินเบื้องต้นในจุดที่เรือล่มนั้นพื้นที่เป็นโคลนปนทรายไม่มีปะการังหรือหญ้าทะเลแต่อย่างใด ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเฝ้าระวังป้องกันที่อาจเกิดปัญหาขณะการกู้เรือก็เป็นไปได้

ด้านสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นสำรวจตรวจวัดคุณภาพน้ำในจุดเกิดเหตุ และจุดใกล้เคียงที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว จำนวน 5 จุด ก่อนการกู้เรือและขณะกำลังกู้เรือและหลังการกู้เรือ ว่าระบบนิเวศของน้ำทะเลมีการเปลี่ยนไปหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล ปะการัง หญ้าทะเล และพื้นที่ชายหาด ผู้เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดขอบและเป็นการผิดกฎหมายอีกด้วย

แต่ในขณะนี้ยังยืนยันว่า จากวันเกิดเหตุเมื่อคืนวันที่ 1 สิงหาคม จนมาถึงวันนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ทะเล ซึ่งทาง ทช. และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เฝ้าติดตามและดำเนินการจัดเก็บขยะในพื้นที่เกาะแตนและพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นจุดเฝ้าระวังที่ขยะจะหลุดลอยมาติดค้าง ซึ่งการจัดเก็บขยะที่ผ่านมาพบว่าเป็นขยะเก่าที่ลอยมากับคลื่นลมไม่ใช่ขยะใหม่ที่หลุดลอยมาจากก้อนขยะที่จมอยู่ใต้ทะเลดังกล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์