Admin 1 ก.ค. 2563

พบอุณหภูมิขั้วโลกใต้ร้อนกว่าส่วนอื่นๆ ถึง 3 เท่า

2

บรรยากาศส่วนหนึ่งของทวีปแอนตาร์กติกา (Yevgen Prokopchuk / 25th Ukrainian Antarctic Expedition / AFP)

นักวิทยาศาสตร์พบอุณหภูมิที่ขั้วโลกใต้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกถึง 3 เท่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เหตุเนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรเขตร้อนที่อุ่นขึ้น ทั้งนี้ อุณหภูมิของแอนตาร์กติกานั้นแปรเปลี่ยนอย่างมากไปตามฤดูกาลและภูมิภาค และก็เชื่อกันมานานหลายปีว่า ขั้วโลกใต้นั้นยังคงอุณหภูมิที่หนาวเหน็บ แม้ว่าทวีปจะร้อนขึ้น

ทว่า นักวิจัยในนิวซีแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์ข้อมูล 60 ปีที่บันทึกจากจากสถานีสภาพอากาศ และใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่อหาสาเหตุว่าอะไรเป็นสิ่งที่เร่งอุณหภูมิให้ร้อนขึ้น ทีมวิจัยพบว่า อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นของมหาสมุทรในแปซิฟิกตะวันตกตลอดเวลาหลายสิบปีนั้น ได้ลดความดันบรรยากาศเหนือทะเลเวดเลล์ (Weddell Sea) ทางตอนใต้ของแอตแลนติกให้ต่ำลง ส่งผลให้อากาศร้อนเพิ่มขึ้นโดยตรงเหนือขั้วโลกใต้ และทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 เป็นต้นมาเพิ่มขึ้น 1.83 องศาเซลเซียส

ทีมวิจัยระบุว่า แนวโน้มของการร้อนขึ้นตามธรรมชาตินั้น ถูกเร่งโดยการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผลงานของมนุษย์ และยังส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกเนื่องจากมลภาวะจากคาร์บอนเหนือขั้วโลกใต้ด้วย “ขณะที่รู้กันว่าอุณหภูมิทั่วเวสต์แอนตาร์กติกาและคาบสมุทรแอนตาร์กติกานั้นกำลังร้อนขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 แต่อุณหภูมิของขั้วโลกใต้ก็ยังหนาวเย็นอยู่ ซึ่งถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่า บริเวณดังกล่าวของทวีปแอนตาร์กติกานั้นมีภูมิต้านทานหรือทนต่อความร้อน แต่การค้นพบครั้งนี้บอกว่าไม่ใช่อีกต่อไป” ไคลี เคลม (Kyle Clem) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิคตอเรียแห่งเวลลิงตัน (Victoria University of Wellington) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในงานวิจัยครั้งนี้เปิดเผยแก่เอเอฟพี

ข้อมูลยังเผยให้เห็นว่า ขั้วโลกใต้ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ห่างไกลที่สุดบนดาวเคราะห์โลก ตอนนี้กำลังร้อนขึ้นด้วยอัตรา 0.6 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกถึง 3 เท่า โดยเฉลี่ยส่วนอื่นของโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.2 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ

งานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการเนเจอร์ไคลเมทเชนจ์ (Nature Climate Change) โดยทีมวิจัยได้ให้เหตุของการเปลี่ยนแปลงว่ามีสาเหตุจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ความผันผวนระหว่างทศวรรษแปซิฟิก (Interdecadal Pacific Oscillation) หรือ IPO

ความผันผวนระหว่างทศวรรษแปซิฟิกนี้มีรอบอยู่ราวๆ 15-30 ปี และมีการสลับสับเปลี่ยนจากสถานะบวก (positive) ที่บริเวณแปซิฟิกเขตเส้นศูนย์สูตรนั้นร้อนขึ้นและแปซิฟิกตอนเหนือหนาวเย็นกว่าค่าเฉลี่ย กับสถานะลบ (negative) ที่อุณหภูมิของสองส่วนดังกล่าวสลับกัน ความผันผวน IPO สู่วัฏจักรลบนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเริ่มต้นของศตวรรษ ขับเคลื่อนให้การหมุนเวียนความร้อนรุนแรงขึ้นและเกิดความดันมากขึ้นอย่างรุนแรงที่บริเวณละติจูดสูงๆ นำไปสู่กระแสลมร้อนที่กรรโชกแรงเหนือขั้วโลกใต้

เคลมกล่าวว่าระดับความร้อนที่เพิ่มขึ้น 1.83 องศาเซลเซียสนั้น คิดเป็นความร้อนที่เพิ่มขึ้นถึง 99.99% ของแบบจำลองความร้อนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในรอบ 30 ปีแล้ว ขณะที่ความร้อนกำลังเพิ่มขึ้นตามวัฏจักรธรรมชาติ แต่ก็ชัดเจนมากว่ากิจกรรมของมนุษย์นั้นมีส่วนร่วมต่อความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นนี้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์