Admin 25 มิ.ย. 2563

พบไมโครพลาสติกในลำไส้สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วบนเกาะห่างไกลแถบขั้วโลกใต้

พบไมโครพลาสติกในลำไส้ของสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วบนเกาะห่างไกลแถบขั้วโลกใต้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าภัยจากมลพิษพลาสติกกำลังขยายตัวไปถึงระบบนิเวศวิทยาในบริเวณห่างไกล

1

เอลิซา เบอร์กามี นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยซีนา ในอิตาลี เปิดเผยว่า จากการใช้เทคนิคอินฟราเรด สเปกโตรสโกปี ทดสอบสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋ว 18 ตัว ที่พบเกาะอยู่บนชิ้นโฟมโพลิสไตรีน (polystyrene) บนชายหาดเกาะคิง จอร์จ ทางตอนเหนือของทวีปแอนตาร์กติก เมื่อปี 2559 พบว่า มีไมโครพลาสติกอยู่ในลำไส้ของ "Cryptopygus antarcticus" แมลงหางดีดตัวจิ๋ว ขนาดลำตัวไม่เกิน 1 มิลลิเมตร ที่อาศัยอยู่แถบขั้วโลกใต้

การสำรวจชายหาดเกาะคิง จอร์จ ของนักวิจัยในอิตาลีมีขึ้นเพื่อศึกษาเส้นทางการแพร่กระจายของพลาสติกในสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ห่างไกล โดยพบว่าแม้จะเป็นพื้นที่ห่างไกลแต่ก็มีมลพิษในระดับสูง มีเศษขยะพลาสติกให้เห็นทั่วไป

โดยนักวิจัยระบุว่า เชื่อว่าเจ้าตัว Cryptopygus antarcticus กินไมโครพลาสติกเข้าในระหว่างที่มันกำลังกินสาหร่าย มอส และไลเคนที่เกาะอยู่บนชิ้นโฟมโพลิสไตรีน และพบว่าไมโครพลาสติกสามารถเป็นตัวนำพา และทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศวิทยาผลการศึกษาครั้งนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Biology Letters ซึ่งนับเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามของมลพิษพลาสติกที่ขยายไปถึงพื้นที่ห่างไกล.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์