Admin 27 พ.ค. 2563

พรุ่งนี้จัดการเด็ดขาดรื้อคอกหอยแครง แม่ทัพน้อย-ผู้ว่าฯ ลุยเอง

แม่ทัพน้อยลงสุราษฎร์ธานีพรุ่งนี้ ติดตามการกวาดล้างคอกหอยเถื่อนในพื้นที่ชุมน้ำทะเลอ่าวบ้านดอน ในขณะที่ผู้ว่าฯ ส่งกำลังกว่า 300 นายลุยรื้อ กป.อพช.ใต้ ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 4 ข้อ ให้เร่งดำเนินการ

339d421519a4f3b4b8fe88be390af2c4cd97db46019d01b71f2c9ea57d1580a5

จากปัญหาการบุกรุกอ่าวบ้านดอน มีพื้นที่ที่ครอบคลุมตลอดแนวชายฝั่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ตามมติรัฐมนตรี สาธารณะ โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลในเขต ต.คลองฉนาก ต.บางชนะ อ.เมือง และ ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน แต่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมีการปล่อยปละละเลยให้มีการบุกรุกจับใช้ไม้ไผ่ปักล้อมคอกกั้นแนวเขตพร้อมปลูกสิ่งก่อสร้างบ้านพักกลางทะเลมานานนับ 10 ปี ต่อมายุค คสช ทหารได้เข้ามาดำเนินการรื้อถอนไม้ไผ่ในเขต 1,000 เมตร ออกและให้เจ้าของรื้อถอนอาคารบ้านพัก

แต่ทางกรมเจ้าท่าได้มีการยืดหยุ่นผ่อนปรนให้ทางผู้บุกรุกต่อลมหายใจถึง 2 ครั้งๆ ละ 180 วัน จนกระทั่งในช่วงนี้สภาพอากาศเหมาะสม ความเค็มของน้ำทะเลอยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือทางชาวประมงบอกว่าเป็นช่วงน้ำหวาน จึงทำให้ลูกหอยแครงเกิดขึ้นตามธรรมชาติเป็นจำนวนมากมายคิดเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท

สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเล 3,000 เมตร ในเขตอำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ชุมน้ำใต้ทะเลเป็นแอ่งกระทะ มีโคลนและหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์เป็นอาหารของสัตว์น้ำและลูกหอย ประกอบกับในพื้นที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ และในอำเภอท่าฉางเป็นพื้นที่อนุญาตให้มีการเลี้ยงหอยแครงอย่างถูกต้องเป็นจำนวนกว่า 30,000 ไร่ จึงมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน เมื่อหอยแครงเหล่านี้มีการปล่อยน้ำเชื้อออกมาได้ถูกกระแสน้ำพัดพามากองสะสมในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อสภาพน้ำเค็มมีความเหมาะสมจึงเกิดลูกหอยขึ้นเป็นประจำทุกปี

8a4b26636ea

จึงเป็นเหตุให้มีกลุ่มผู้ทรงอิทธิพล นายทุน คนมีสี ผู้นำชุมชน ได้เข้าไปบุกรุกครอบครอง และบางพื้นที่ก็ทำเป็นป่าชุมชนบังหน้า กอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรในทะเลทั้งการจับลูกหอยขายและแบ่งพื้นที่ในท้องทะเลขาย จนสร้างความร่ำรวยกันไปตามๆ กัน จนในครั้งนี้เกิดศึกแย่งชิงลูกหอยกันระหว่างกลุ่มผู้มีอิทธิพลจนบุกรุกเข้ามาในเขต 1,000 เมตร จนกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านไม่มีที่ทำกิน เมื่อทางจังหวัดได้ออกมาเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มีโอกาสหาลูกหอยไปขายเพื่อสร้างรายได้ในสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 แต่ทางนายทุน และกลุ่มผู้มีอิทธิพลำไม่พอใจได้ใช้เรือขนาดใหญ่ติดเครื่องมือผิดกฎหมายเข้าทำการลักลอบลากลูกหอยแครงในยามกลางคืน

เมื่อชาวประมงพื้นบ้านออกมาใช้มือจับปรากฏว่าใต้ทะเลไม่มีลูกหอยจึงได้ร้องเรียนไปทางจังหวัด และทางกองทัพภาค 4 ประกอบมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย ได้เข้าจับกุมพ่อค้ารับซื้อลูกหอยและมีการเรียกร้องขอเงินจำนวน 5 ล้านบาท แลกเปลี่ยนกับการไม่ถูกดำเนินคดี จนชาวบ้านไม่พอใจลุกฮือขึ้นปิดล้อมจนเรื่องดังไปทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทาง พล.ท.สิทธิพร มุสิกะสิน แม่ทัพน้อย พร้อมด้วยนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิชัย สมรูป ผอ.สนง.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 นายบรรเจิด สาริพัฒน์ นายอำเภอเมืองจะลงพื้นที่เพื่อจัดการปัญหาอย่างเด็ดขาด เพื่อติดตามการรื้อถอนคอกหอยเถื่อนในพื้นที่อำเภอเมือง โดยมีกำลังกว่า 300 นาย ดำเนินการรื้อถอน

5

ในขณะที่คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี ต้องกล้าตัดสินใจดำเนินการยึดคืนพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอนให้ประชาชน โดยระบุว่า สถานการณ์ปัญหาการรุกพื้นที่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ได้จริง ทั้งยังพบว่ามีการใช้อำนาจมืดที่อิงอยู่กับกลุ่มอิทธิพลต่างๆ แสดงท่าทีไม่เกรงกลัวต่ออำนาจบ้านเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างไม่เกรงกลัว และยังพบว่ามีการเอื้อประโยชน์โดยข้าราชการบางคนบางหน่วยงานให้มีการกระทำผิดดังกล่าวอย่างเปิดเผยและเป็นที่รับรู้ของประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ดังที่ปรากฏเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง

อ่าวบ้านดอน มีพื้นที่ที่ครอบคลุมตลอดแนวชายฝั่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ตามมติรัฐมนตรี วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 แต่กลับถูกปล่อยให้มีการบุกรุกเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และยังมีการปลูกสร้างที่พักส่วนบุคคลอย่างแข็งแรง และยังมีการปักรั้วกั้นแนวเขตพื้นที่อย่างเปิดเผย เสมือนเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ต่อปัญหาเหล่านี้เครือข่ายประมงชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้พยายามเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้มาตลอดหลายครั้งหลายสมัย ในครั้งนี้มีการเรียกร้องให้หน่วยงานระดับประเทศเข้ามาดูแล แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่กลับไม่สามารถจัดการกับปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่นี้ได้จริง ด้วยปัจจัย เงื่อนไข ว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังที่มีอำนาจคอยให้ท้ายแลหลังให้แก่กลุ่มทุนเหล่านั้นได้อย่างโจ่งแจ้ง

8a4b236ea

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ขอสนับสนุนเครือข่ายประมงชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้ออกมาเรียกร้องให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ ดังนี้

1.ให้ดำเนินการรื้อถอนหลักไม้ไผ่ที่แสดงการครอบครองพื้นที่สาธารณะเพื่อส่วนบุคคล นอกเขตอนุญาตเพาะเลี้ยงอ่าวบ้านดอนทุกพื้นที่ให้หมดภายในเวลา 3 เดือน

2.ให้ยกเลิกการแบ่งเขตการครอบครองพื้นที่ทางทะเลของเขตอำเภอเมือง เพราะการยอมรับระบบการแบ่งเขตดังกล่าว ถือเป็นกลวิธีอันแยบยลในการรับรองสิทธิให้กลุ่มนายทุนยึดที่สาธารณะโดยพฤตินัย ถือเป็นการทำผิดกฎหมายหลายฉบับ และยังผิดต่อการครอบครองพื้นที่สาธารณะตามอนุสัญญาแรมซา

3. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้องจัดตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ ในลักษณะกองกำลังผสมของหลายฝ่ายเพื่อเข้าคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง และเพื่อคุ้มครองชาวบ้านในการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านในบริเวณอ่าวบ้านดอนให้อยู่ในความปลอดภัย อีกทั้งเพื่อป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมายอื่นๆ ด้วย

4.จังหวัดสุราษฎร์ธานีต้องมีการตรวจสอบพฤติกรรมของข้าราชการบางหน่วยงานที่เอื้อประโยชน์และมีส่วนได้เสียในการครอบครองพื้นที่สาธารณะในอ่าวบ้านดอนทั้งหมดอย่างโปร่งใส และตรงไปตรงมา

กป.อพช.ใต้ ยืนยันว่า "อ่าวบ้านดอน" คือทรัพยากรส่วนรวมของประชาชนชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเป็นของประชาชนทั้งประเทศ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแสดงความกล้าหาญดำเนินการตรวจยึดพื้นที่สาธารณะอ่าวบ้านดอนคืนกลับให้ประชาชน ซึ่งเราจะติดตามการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกับเครือข่ายประมงชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างใกล้ชิด และจะร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อให้ข้อเรียกร้องเหล่านี้บรรลุเป้าหมายต่อไปอย่างถึงที่สุด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์