Admin 25 พ.ค. 2563

ภาวะโลกร้อนทำหิมะในทวีป "แอนตาร์กติกา" กลายเป็นสีเขียว

อุณหภูมิที่สูงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้เกิดปรากฏการณ์ "หิมะสีเขียว" ในทวีปแอนตาร์กติกา หลายจุดสามารถมองเห็นได้แม้แต่จากอวกาศ

_111700826_92586209_3059147087487760_3246095759300362240_n

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาแห่งสหราชอาณาจักร จัดทำแผนที่การแพร่พันธุ์ของสาหร่ายบนชายฝั่งคาบสมุทรแอนตาร์กติกเป็นครั้งแรก โดยใช้ข้อมูลที่รวบรวมเป็นเวลา 2 ปี จากดาวเทียมเซนติเนล ทู ขององค์การอวกาศยุโรป และเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 พ.ค.)

มอสและไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สังเคราะห์แสงได้ที่พบได้ทั่วไปในทวีปแอนตาร์กติกา แต่การสำรวจทำแผนที่ใหม่นี้พบกลุ่มสาหร่าย 1,679 กลุ่ม ซึ่งทำให้หลายพื้นที่ของทวีปที่เคยขาวโพลนด้วยหิมะและน้ำแข็ง เป็นสีเขียวมากขึ้น ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อการแพร่พันธุ์ของสาหร่ายบนหิมะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พวกมันถูกตามหมู่เกาะนอกชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกาที่อุณหภูมิเพิ่มสูงกว่าบริเวณอื่นๆ

แมตต์ เดวีย์ จากสาขาวิชาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บอกว่า สาหร่ายที่เกิดขึ้นนี้เติบโตบนหิมะที่กำลังละลาย พวกมันต้องการน้ำที่อยู่ในสภาพของเหลวเพื่อสืบพันธุ์และแบ่งตัว แต่ถ้าสภาพอากาศอุ่นขึ้นจนทำให้หิมะละลายเร็วเกินไป พวกมันก็ไม่สามารถอยู่ได้เช่นกัน

เดวีย์บอกอีกว่า สาหร่ายเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในความสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศของทวีปแอนตาร์กติกา โดยกลุ่มสาหร่ายที่พบในปัจจุบัน สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เทียบเท่ากับ การเดินทางด้วยรถยนต์ 875,000 เที่ยว ซึ่งแม้ว่าจะดูเหมือนเยอะ แต่หากเทียบกับการประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกแล้ว ยังถือว่าน้อยมากๆ ทั้งนี้ ทวีปแอนตาร์กติกาทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยวัดอุณหภูมิสูงสุดได้ 18.3 องศาเซลเซียส ในแถบชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรแอนตาร์กติก

ที่มา: PPTV ONLINE