Admin 21 พ.ค. 2563

กนอ.เล็งผลิตน้ำจืดจากทะเลสู้ภัยแล้ง

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจับมือภาคเอกชน ตั้งบริษัทลูกสร้างโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเลป้อนนิคมอุตสาหกรรม 3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน รับมือปัญหาภัยแล้ง

news-336703625ec3747c336be

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)    รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ภาคอุตสาหกรรม และ กนอ. จัดทำแผนการจัดหาน้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยไม่ให้กระทบภาคการเกษตร รวมทั้งให้เร่งดำเนินการ 3Rs ได้แก่ ลดการใช้น้ำ การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และการปรับปรุงน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการใช้น้ำให้มากที่สุด ทั้งนี้  กนอ. ยังได้เตรียมแผนสร้างโรงงานนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด โดยในเบื้องต้นจะตั้งบริษัทลูกเพื่อร่วมลงทุนกับภาคเอกชน สร้างความมั่นคงปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเผชิญภาวะภัยแล้งมากขนาดไหนก็มีน้ำป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมา โรงงานขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หลายราย มีโรงงานผลิตน้ำจืดเป็นของตัวเองแล้ว แต่โครงการของ กนอ. นี้ จะช่วยผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด เบื้องต้นคาดว่า จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 3 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีต้นทุนการสร้างโรงงานประมาณ 50 - 60 บาทต่อลูกบาศก์เมตร  ส่วนราคาขายของน้ำจืดจะต้องตกลงกับผู้ประกอบการก่อน เพื่อไม่ให้แบกรับภาระที่สูงเกินไป

สำหรับในปี 2563 นิคมอุตสาหกรรม ใน อีอีซี มีความต้องการใช้น้ำ 239 ล้านลูกบาศก์เมตร  และคาดว่า ความต้องการจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2568 จะมีความต้องการใช้น้ำ 264 ล้านลูกบาศก์เมตร  และในปี 2573 ต้องการใช้น้ำ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร  โดยมีอัตราการเติบโตประมาณ 2.5% ต่อปี โดยแหล่งน้ำหลักที่ใช้ใน อีอีซี จะรับมาจากแหล่งน้ำของ อีสท์ วอเตอร์ ที่ได้จากอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ส่วนแหล่งน้ำสำรองมาจากบ่อน้ำในนิคมอุตสาหกรรม  และภาคเอกชน มีปริมาณ 34 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขณะที่การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ผ่านระบบ Wastewater RO และ Sea water RO มีปริมาณ 54,364 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีก 2 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ที่มา: TNN