Admin 15 พ.ค. 2563

ฟอสซิล 55 ล้านปีชี้ปลากะตักโบราณตัวยาวถึงหนึ่งเมตร มีเขี้ยวดาบไว้ล่าปลาเล็กเป็นอาหาร

5 (1)

ภาพจำลองปลากะตักดึกดำบรรพ์ที่มีเขี้ยวดาบ กำลังถูกบรรพบุรุษของวาฬยุคเริ่มแรกจับกินเป็นอาหาร

เมื่อพูดถึงปลากะตัก ปลาไส้ตัน หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่าแอนโชวี่ (anchovy) ทุกคนคงจะนึกถึงปลาทะเลตัวเล็กจิ๋วที่เอามาใช้ทำน้ำปลาหรือตากแห้งเป็นของกินกรุบกรอบ แต่ใครจะรู้ว่าในอดีตหลายสิบล้านปีมาแล้วนั้น ปลากะตักเคยมีบรรพบุรุษที่ตัวใหญ่ได้ถึงหนึ่งเมตร แถมยังมีเขี้ยวดาบเอาไว้ล่าปลาตัวเล็กกว่าอีกด้วย

ทีมนักบรรพชีวินวิทยาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐฯ นำซากฟอสซิลปลา 2 ชิ้นจากสมัยอีโอซีน (Eocene Epoch)ที่มีอายุเก่าแก่ 55 ล้านปีมาทำการวิเคราะห์ หลังมีการค้นพบฟอสซิลนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนในประเทศเบลเยียมและปากีสถาน โดยใช้เทคนิค micro-computed tomography ซึ่งเป็นการสแกนและสร้างภาพขึ้นใหม่ ในลักษณะที่คล้ายกับการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกนตามโรงพยาบาล

ผลปรากฏว่าฟอสซิลปลาทั้งสองชิ้นซึ่งมีความยาวลำตัวร่วม 1 เมตร มีลักษณะหลายประการที่คล้ายกับปลากะตักในยุคปัจจุบัน เว้นแต่ในปากของมันมีเขี้ยวดาบงอกยาวออกมาที่ด้านหน้าด้วย ซึ่งแสดงว่ามันเป็นนักล่าที่ใช้เขี้ยวดาบทิ่มแทงและงับปลาตัวเล็กกว่าเอาไว้ในปาก

5

ฟอสซิลปลากะตักยุคโบราณ อายุเก่าแก่ 55 ล้านปี

ผลการค้นพบนี้เผยแพร่ในวารสาร RSOS ของราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน โดยดร. อเลซซิโอ กาโปเบียงโก ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า บรรพบุรุษของปลากะตักที่มีขนาดใหญ่ยักษ์นี้ เป็นผลของวิวัฒนาการหลังเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อราว 11 ล้านปีก่อนหน้านั้น ซึ่งการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากรวมทั้งไดโนเสาร์จากเหตุอุกกาบาตพุ่งชนโลก ได้เปิดทางให้ปลาบางชนิดเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองมาเป็นผู้ล่าแทนที่สัตว์หลายชนิดที่สูญพันธุ์ไป

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ปลากะตักยักษ์เขี้ยวดาบนี้ต้องสูญพันธุ์ไปก่อน เหลือไว้เพียงลูกหลานสายพันธุ์ตัวจิ๋วที่มีเพียงฟันขนาดเล็กไว้กินแพลงก์ตอน ดังที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น

"ผมอยากจะรู้เหมือนกันว่า ปลากะตักโบราณเขี้ยวดาบที่กินเนื้อปลาอื่นเป็นอาหารจะมีรสชาติยังไง เพราะมันจะต้องแตกต่างไปจากแอนโชวี่ที่เราใช้โรยหน้าพิซซ่าอย่างแน่นอน" ดร. กาโปเบียงโก กล่าวทิ้งท้าย

8a4b236ea

ปลากะตักหรือปลาไส้ตันตากแห้งตัวเล็กจิ๋ว ซึ่งเราใช้ประกอบอาหารกันในทุกวันนี้

ที่มา: BBC