Admin 12 พ.ค. 2563

ตื่นตา! 'ฉลามวาฬ' ทักทายครูดำน้ำสำรวจใต้ทะเลเกาะเต่า

5 (1)

10 พฤษภาคม 2563 นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 สุราษฎร์ธานี ได้นำคณะสำรวจเดินทางไปยังตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสำรวจใต้สภาพทั่วไปและสัตว์ทะเลเกาะเต่า พร้อมเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปะอาชา) ได้สั่งการผ่านอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(นายโสภณ ทองดี)มายังสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่4 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีข่าวในสังคมออนไลน์ ว่าหลังจากที่มีการเปิดให้มีกิจกรรมการดำน้ำในแหล่งดำน้ำที่ขึ้นชื่อของเกาะเต่า แล้ว พบว่าปลาชนิดต่างๆลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย

ดังนั้น สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 จึงได้ร่วมกับนักวิชาการประมงศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลอ่าวไทยตอนกลาง พร้อมทีมครูสอนดำน้ำเกาะเต่า ชมรมรักเกาะเต่าได้ร่วมกันออกสำรวจสถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้านต่างๆ โดยแบ่งทีมงานสำรวจเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กองหินใบ ในชั้นความลึกของน้ำตั้งแต่ 12-30 เมตร จากการสำรวจพบว่าพบกลุ่มปะการังกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ประมาณ20เปอร์เซ็นต์ ปะการังชนิดเด่นได้แก่ปะการังโขด Porites lutea และปะการังชนิดอื่นปนอยู่ประปราย ส่วนอีก30 เปอร์เซ็นต์ เป็นดอกไม้ทะเล กัลปังหา ฟองน้ำ และพบเศษปะการังตายประมาณ10เปอร์เซ็นต์ สำหรับปลาจากการสำรวจพบ 17 จำพวก 49 ชนิด ตั้งแต่ปลาตัวเล็กถึงขนาดใหญ่ ชนิดเด่นเป็นจำพวกปลาสลิดหิน และพบฉลามวาฬขนาดใหญ่ที่กองหินเขียวอีกด้วย และมีการตรวจพบพบเครื่องมือประมงจำพวก อวน ลอบ อยู่ในแนวปะการังอยู่บ้าง

สำหรับข่าวที่ออกไปก่อนหน้านี้ว่า ปริมาณปลาในแหล่งดำน้ำดังกล่าวลดลงไปมาก อาจเป็นได้หลายสาเหตุ เช่น ช่วงเวลาที่ลงดำน้ำ อาจไปตรงกับช่วงที่ปลาว่ายมา ระยะเวลาในการลงดำน้ำอาจสั้นเกินไป หรือ การแตกตื่นของฝูงปลา เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทางราชการห้ามกิจกรรมใต้ทะเลอย่างเด็ดขาดซึ่งกินเวลาเดือนเศษ ที่กลุ่มปลาไม่ได้พบเจอมนุษย์ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมลงไปในทะเล จึงว่ายน้ำหนีห่างออกไป

ด้านนายโกศล พงศ์ผดุงเกียรติ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์เกาะเต่า ระบุกรณีมีข่าวว่ามีกลุ่มชาวประมงต่างถิ่นมาลักลอบทำการประมง ในแหล่งและใกล้ๆแหล่งปะการังนั้นอาจมีบ้าง เพราะช่วงคุมเข้มการระบาดโรคโควิ-19 ท้องทะเลว่างเปล่าขาดการสัญจรไปมาของผู้คน แต่ตนเองได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐได้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 สุราษฎร์ธานี และกรมประมงให้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจตราเป็นระยะๆ ประกอบกับคนเกาะเต่าก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตา และเปลี่ยนค่านิยม ในการเก็บปลาเป็นๆที่มีชีวิตให้แหวกว่ายอยู่ในระบบนิเวศน์ปะการัง สร้างประโยชน์มากมายมหาศาลประเมินค่าไม่ได้ดีกว่าจับปลาไปขายหรือใช้ประกอบอาหารซึ่งได้ประโยชน์ระยะสั้นถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์คลิปขณะที่ฉลามวาฬตัวใหญ่ว่ายเข้ามาทักทายครูดำน้ำเกาะเต่า บนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า "คนหยุดสัตว์มา คำนี้ศักดิ์สิทธิ์จริงๆ เพราะวันนี้ทีมครูดำน้ำเกาะเต่าออกสำรวจสภาพแนวปะการังตามกองหินต่างๆ เจอน้องฉลามวาฬตัวใหญ่ว่ายเข้ามาทักทาย สำหรับความคืบหน้าแผน new normal ทะเลไทย ทราบว่ากระทรวงทรัพยากรฯ กำลังเดินหน้าเต็มที่ ท่านรมต.ตั้งเป้าว่าจะเป็นรูปเป็นร่างในเดือนพฤษภาคม งานนี้ช่วยกันทุกฝ่าย ตั้งแต่ใต้น้ำถึงในกระทรวง เยี่ยมครับ ขอบคุณทุกคนที่เกาะเต่าที่ช่วยกันดูแลทะเลแทนพวกเราด้วยครับ"

ที่มา: แนวหน้า และ คลิปจากfacebook