Admin 29 ม.ค. 2560

ชาวสวนผลไม้ที่สุราษฎร์ฯ ร้องเดือดร้อนหนักน้ำท่วมทำผลไม้ยืนต้นตาย

เกษตรกรชาวสวนผลไม้ บ้านทุ่งอ่าว จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทุกข์หนัก ถูกน้ำท่วมขังสูงกว่า 60 ซม.มานาน 2 เดือน พืชผลผลไม้ทุกชนิดที่กำลังให้ผลผลิตรากเน่ายืนต้นตาย ไม่มีรายรับ ต้องออกรับจ้างรายวันมาประทังชีวิตเลี้ยงครอบครัว ร้องผ่านสื่อขอให้ ธ.ก.ส พักหนี้ลดดอกเบี้ย

560000001008601

วันที่ 29 ม.ค. 2560 นายบุญมาก โมอ่อน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านทุ่งอ่าว ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่มานานกว่า 2 เดือน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดปริมาณลงมา ว่า บ้านทุ่งอ่าว มีพื้นที่ 3,400 กว่าไร่ มีประชากรกว่า 300 ครัวเรือน หรือประมาณ 800 กว่าคน ร้อยละ 90 มีอาชีพเป็นเกษตรกร ปลูกปาล์มน้ำมัน 2,000 กว่าไร่ และสวนผลไม้กว่า 300 ไร่ ปัจจุบันได้ถูกน้ำท่วมขังมาตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2559 และจนถึงปัจจุบันนานถึง 2 เดือน และมีแนวโน้มท่วมยาวต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน

ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก พืชสวนผลไม้ เช่น ต้นฝรั่ง ต้นชมพู่ กล้วยหอมทอง ต้นไผ่หวาน มะพร้าวน้ำหอม และต้นปาล์มน้ำมัน ที่มีอายุต่ำว่า 2 ปี ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 60 เซนติเมตร มานานประมาณ 2 เดือน ส่งผลรากเน่ายืนต้นตายหมดทั้งกว่า 300 ไร่ ส่วนต้นปาล์มน้ำมัน และต้นมะพร้าวน้ำหอมที่มีอายุกว่า 3 ปี ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยผลผลิตที่กำลังออกต้องมาหยุดชะงักไป ประกอบกับในฤดูกาลนี้เป็นช่วงที่เกษตรกรจะต้องปลูกแตงโม แต่พื้นที่ถูกน้ำท่วมขังจนชาวบ้านไม่สามารถปลูกแตงโมได้ จากสถานการณ์เกิดอุทกภัยซ้ำซากน้ำท่วมมา 4-5 ครั้งติดต่อกัน อยากขอเรียกร้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเปิดทางน้ำให้ระบายลงสู่ทะเลเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา และป้องกันปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่ยั่งยืนต่อไป

560000001008602

ด้าน นางบุญส่ง ไชยนาเคนทร์ อายุ 48 ปี เกษตรกรชาวสวน กล่าวว่า ตนกู้เงิน ธ.ก.ส .มาจำนวนกว่า 100,000 บาท เพื่อปลูกผลไม้ประเภทชมพู่ ฝรั่ง กล้วยหอมทอง มะพร้าวน้ำหอม และไผ่หวาน ในพื้นที่ 5 ไร่เศษ ซึ่งพืชทั้งหมดมีอายุประมาณ 2 ปี กำลังให้ผลผลิต กำลังเก็บเกี่ยว แต่ถูกน้ำท่วมตายหมด เงินทุนที่มีอยู่ก็หมดไปกับการลงทุน จึงวอนขอให้ทาง ธ.ก.ส.พักหนี้ลดดอกเบี้ย และขอกู้เงินทุนต่อไปอีก ทุกวันนี้ไม่มีรายได้ ลูกชายต้องออกไปรับจ้างรายวันเพื่อนำเงินมาจุนเจือครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ทางกรมชลประทาน ได้นำเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 2 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำ จำนวน 3 เครื่อง มาติดตั้งในพื้นที่เพื่อเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ และเร่งผักดันน้ำระบายลงสู่ทะเล พร้อมทั้งนำรถแบ็กโฮมาขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้น้ำระบายได้เร็วขึ้น แต่มวลน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่มีจำนวนมากจึงต้องใช้เวลานานเป็นแรมเดือนถึงจะแห้งเป็นปกติ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากมีฝนตกลงในพื้นที่น้ำก็ยังคงท่วมขังยาวออกไปอีก

ที่มา : http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9600000009646