Admin 30 เม.ย. 2563

'โควิด-19'ทำทั่วโลก'ปล่อยคาร์บอน'ลดลง4% หวั่นอาจกลับมาดีดตัวสูงกว่าเดิม

1

29 เมษายน 2563 สำนักข่าวซินหัวรายงาน การศึกษาฉบับใหม่ของไคลเมต แอกชัน แทรกเคอร์ (CAT) องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมในเยอรมนี ระบุว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลและภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกลดลงร้อยละ 4-11 ในปี 2020

การศึกษาระบุว่าการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกอาจลดลงต่อเนื่องในปี 2021 ราวร้อยละ 1-9 จากปี 2019

อย่างไรก็ดี การศึกษาเตือนว่าหากไม่มีการออกนโยบายควบคุมก๊าซคาร์บอนฯ ให้อยู่ระดับต่ำ พร้อมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 "การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อาจหวนกลับมาและดีดตัวสูงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ภายในปี 2030 แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงก็ตาม"

การศึกษาดังกล่าวอ้างอิงสถานการณ์การฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพบว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสีเขียว อาทิ การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า "มีผลกระทบต่อการลดการปล่อยมลพิษอย่างมากที่สุด"

การศึกษาเสนอให้สนับสนุนเทคโนโลยีและยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์โดยตรง และเร่งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการบินสะอาด พร้อมทั้งเตือนถึงการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ข้อบังคับ และมาตรการด้านสภาพอากาศเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษที่บังคับใช้ก่อนหน้านี้

นอกจากนั้นองค์กรฯ ระบุว่ารัฐบาลต่างๆ ควรงดเว้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมเก่าที่ไม่มีแผนปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่รูปแบบปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ รวมถึงหยุดออกมาตรการกระตุ้นโครงการก่อสร้างใหม่ที่ไม่มีเกณฑ์บ่งชี้การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า

"สารสำคัญสำหรับบรรดาผู้กำหนดนโยบายคืออัตราและความเร็วของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นเป็นรองความเร็วและระดับการลงทุนด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และระบบอื่นๆ ที่ใช้คาร์บอนต่ำและคาร์บอนเป็นศูนย์"

รัฐบาลต่างๆ ควรมุ่งเน้นการช่วยชีวิต การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ ความพร้อมด้านอาหาร และมาตรการสนับสนุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่เร่งด่วนอื่นๆ มากมาย อาทิ เงินช่วยเหลือด้านอาชีพในระยะสั้น การแจกเงินสดโดยตรงแก่ประชาชน หรือการเสริมสภาพคล่องแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

"การฟื้นคืนจากผลกระทบของโรคโควิด-19 มีทั้งโอกาสและภยันตรายต่อการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของเราต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ"

ที่มา: แนวหน้า