Admin 23 เม.ย. 2563

นอกจากฝุ่นละอองขนาดเล็กละเอียด PM2.5 แล้ว บรรยากาศโลกมีฝุ่นหยาบในปริมาณมากกว่าที่คาดไว้ถึง 4 เท่า

_111700678_92460330_215684506366651_1391583817814245376_n

พายุฝุ่นในชั้นบรรยากาศโลกเหนือทะเลทรายซาฮารา ภาพถ่ายจากมุมมองของสถานีอวกาศนานาชาติ

นอกจากฝุ่นละอองขนาดเล็กละเอียด PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนเราแล้ว ล่าสุดยังมีผลการศึกษาที่ชี้ว่า อนุภาคของฝุ่นหยาบชนิดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ไมครอนขึ้นไปนั้น มีอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณสูงเหนือความคาดหมายถึง 4 เท่า และมีแนวโน้มจะทำให้ภาวะโลกร้อนรวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รุนแรงขึ้นไปอีก

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส (UCLA) ของสหรัฐฯ ตีพิมพ์รายงานวิจัยข้างต้นลงในวารสาร Science Advances ระบุว่าผลวิเคราะห์ข้อมูลสังเกตการณ์ปริมาณอนุภาคฝุ่นในอากาศจากหลายสิบประเทศทั่วโลก พบว่าในชั้นบรรยากาศโดยรวมมีฝุ่นหยาบอยู่ราว 17 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 4 ล้านตันมาก

ฝุ่นหยาบหรือฝุ่น PM10 มีทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ เช่นกระแสลมพัดฝุ่นดินหรือเถ้าภูเขาไฟ รวมทั้งที่มาจากอุตสาหกรรมบดย่อยหิน การทำเหมืองแร่ การขนส่งวัสดุฝุ่น และการจราจรบนถนนที่ไม่ได้ลาดยาง

ฝุ่นหยาบที่รวมตัวกันเป็นเมฆฝุ่นนั้น มีลักษณะคล้ายก๊าซเรือนกระจกที่สามารถกักเก็บความร้อนทั้งจากดวงอาทิตย์และจากพื้นโลกเอาไว้ในชั้นบรรยากาศได้ ดังนั้นการที่มีฝุ่นหยาบอยู่ในปริมาณมากกว่าที่คาดไว้ อาจส่งผลต่อเรื่องของสภาพภูมิอากาศ การก่อตัวของเมฆฝน ปริมาณน้ำฝน และปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของมหาสมุทร

_111700826_92586209_3059147087487760_3246095759300362240_n

ความสามารถกักเก็บความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศ ทำให้ฝุ่นหยาบมีแนวโน้มเป็นสาเหตุหนึ่งที่เร่งการก่อตัวของพายุกำลังแรงเช่นพายุเฮอริเคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเขตร้อนที่พบพายุพลังทำลายล้างสูงมากขึ้นและบ่อยครั้งขึ้นทุกขณะ

รศ. ดร. แจสเปอร์ คุก และดร. อาเดเยมี อาเบบียี ผู้ร่วมทีมวิจัยของ UCLA บอกว่า การที่ตัวเลขประมาณการปริมาณฝุ่นหยาบในชั้นบรรยากาศคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง จะทำให้การคำนวณตามแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ (climate model) เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดจากภาวะโลกร้อนไม่ถูกต้อง และจะทำให้ประเมินสภาพการณ์ในอนาคตในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ดร. อาเบบียีกล่าวว่า "ที่ไหนที่มีเมฆฝุ่นอยู่ อากาศโดยรอบมีแนวโน้มจะเกิดความปั่นป่วนมากขึ้น ซึ่งก็ยิ่งจะพัดพาฝุ่นหยาบให้ลอยอยู่ในอากาศได้นานเกินคาด และทำให้มันเดินทางไปได้ไกลจากจุดเดิมอีกหลายพันกิโลเมตร"

"สภาพการณ์เช่นนี้ ไม่ตรงกับที่นักวิทยาศาสตร์ระบุไว้ในข้อมูลพื้นฐานของแบบจำลองสภาพภูมิอากาศต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องปรับปรุงข้อมูลในส่วนของฝุ่นหยาบเสียใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อให้แบบจำลองทำงานได้อย่างแม่นยำขึ้น"

ที่มา: BBC