Admin 21 เม.ย. 2563

โลกร้อนยังกระหน่ำแรง มีนาคมปีนี้ ร้อนสุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์

NOAA เผย มีนาคมที่ผ่านมาร้อนสุดอันดับสองในรอบ 141 ปี ทำอุรหภูมิโลกสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ถึง 1.16 องศาเซลเซียส คืบเข้าใกล้เส่นตายข้อตกลงปารีสที่ 1.5 องศาเซลเซียส ผู้เชี่ยวชาญชี้ แนวปะการังใหญ่ที่สุดในโลกเสี่ยงฟอกขาวอีกครั้ง เตือนไทยเฝ้าระวังด้วย

5 (1)

อุณหภูมิเฉลี่ยในทวีปและมหาสมุทร มีนาคม พ.ศ.2563 // ขอบคุณภาพจาก: NOAA

วันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2563 National Centers for Environmental Information (NOAA) ศูนย์วิจัยด้านสมุทรศาสตร์ ภูมิอากาศและภูมิศาสตร์สหรัฐฯ เผย เดือนมีนาคมที่ผ่านมานับเป็นเดือนมีนาคมที่อุณหภูมิโลกสูงสุดเป็นอันดับสองตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา 141 ปี

อุณหภูมิพื้นผิวทั้งในแผ่นดินและมหาสมุทรเฉลี่ยสูงขึ้น 1.16 องศาเซลเซียส เทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงศตวรรษที่ยี่สิบ กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้รายงานข้อมูลที่ใกล้เคียงกัน พบว่าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.04 องศาเซลเซียส แม้ว่าเดือนมีนาคมปีนี้จะไม่ได้เกิดปรากฏการณ์ เอลนิญโญ (El Niño) เหมือนกับปีพ.ศ. 2559 ที่ครองตำแหน่งเดือนมีนาคมซึ่งร้อนที่สุด อย่างไรก็ตาม มีนาคมปีนี้กลับร้อนน้อยกว่าปีที่เจอเอลนิญโญรุนแรงเพียง 0.15 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างชัดเจนในทวีปเอเชีย หลายพื้นที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 2.5 องศาเซลเซียส ขณะที่รัฐฟลอริดา ทางตะวันออกของสหรัฐและประเทศแถบอเมริกาใต้ประสบกับเดือนมีนาคมที่ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูล นอกจากนั้น ทะเลน้ำแข็งในอาร์กติก (Arctic sea ice extent) ช่วงเดือนดังกล่าวมีขนาดเล็กลง 650,087 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4.2 % จากค่าเฉลี่ยปีพ.ศ.2524 - 2553 กล่าวได้ว่า มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ในรอบ 42 ปี ศตวรรษที่ 21 นี้ได้เปิดศักราชอุณหภูมิโลกสูงทุบสถิติ พบว่า เดือนมีนาคม 10 เดือนที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา

5

อุณหภูมิเฉลี่ยในทวีปและมหาสมุทร มีนาคม พ.ศ.2563 // ขอบคุณภาพจาก: NOAA

แม้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล กรมอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย เผยน้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้นที่ฝั่งตะวันออกของรัฐควีนส์แลนด์ช่วงกุมภาพันธ์และมีนาคมเป็นสาเหตุให้ แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก "Great Barrier Reef" กำลังเผชิญสถานการณ์ฟอกขาวหมู่ขั้นรุนแรง นับว่าเป็นปรากฏการณ์ฟอกขาวครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปี ส่งผลต่อปะการัง กว่า 2,300 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่พักพิงให้สัตว์น้ำ อันเป็นอู่อาหารของผู้คนหลายล้าน

อุณหภูมิมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปะการังอยู่ในภาวะเครียด และขับสาหร่ายที่เป็นแหล่งพลังงานและตัวสร้างสีสันออก การฟอกขาวไม่ได้ทำให้ปะการังตายทันที ทว่าหากอุณหภูมิน้ำทะเลยังคงสูงอย่างต่อเนื่องและเกิดถี่ยิ่งขึ้น โอกาสฟื้นฟูจึงมีน้อยลง

8a4b236ea

ปะการังฟอกขาวแนวโน้มอุณหภูมิทะเลเฉลี่ยรายเดือนบริเวณแหลมพันวา ภูเก็ต แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดปะการังฟอกขาว // ขอบคุณภาพจาก: ดร.ลลิตา ปัจฉิม สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ด้านประเทศไทย NOAA ได้เตือนให้เฝ้าระวังปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว ช่วงเดือนเมษายน - กรกฎาคม เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยทะเลรายเดือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2538 ซึ่งเกิดปะการังฟอกขาวระดับปานกลางในเดือนเมษายน สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะทำการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: GREENNEWS