Admin 14 ม.ค. 2563

เฮ! นักดำที่กระบี่น้ำพบฉลามวาฬยาว 5 เมตร หนัก 2 ตัน ชี้ทะเลสมบูรณ์ขึ้น

เฮ! นักดำน้ำพบฉลามวาฬยาว 5 เมตร หนัก 2 ตัน ที่เกาะบิดานอก ติดอ่าวมาหยา ชี้ท้องทะเลกระบี่สมบูรณ์ เป็นผลมาจากมาตรการปิดอ่าวมาหยา เพื่อฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลและบนบก

750x422_848473_1569329839

นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า วันนี้ (13 ม.ค.) ได้รับแจ้งจากผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวด้านการดำน้ำ และได้รับคลิปวิดีโอที่นักดำน้ำบันทึกภาพฉลามวาฬมาได้ บริเวณเกาะบิดานอก ซึ่งอยู่ติดกับอ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี หมู่ที่ 7 บ้านเกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่

ซึ่งฉลามวาฬตัวนี้มีความยาวประมาณ 5 เมตร น้ำหนักประมาณไม่ต่ำกว่า 2 พันกิโลกรัม หรือ 2 ตัน กำลังแหวกว่ายเล่นน้ำและหากินแพลงก์ตอน ในระดับความลึกของผิวน้ำที่ระยะ 5 เมตร โดยไม่เกรงกลัวผู้คนที่ดำน้ำชมปะการังน้ำลึกแต่อย่างใด ทั้งสามารถเข้าใกล้ได้อีกด้วย แต่นักดำน้ำที่พบฉลามวาฬจะบันทึกภาพห่างจากตัวฉลามวาฬในระยะเพียง 5 เมตรเท่านั้น ซึ่งฉลามวาฬไม่ได้แตกตื่นแม้แต่นิดเดียว ยังคงแหวกว่ายน้ำในบริเวณเกาะบิดานอก เป็นเวลานานถึง 1 ชั่วโมง จึงดำน้ำลึกลงไป

นายวรพจน์ กล่าวต่อไปว่า การที่ฉลามวาฬเข้ามาหากินบริเวณเกาะบิดานอกซึ่งอยู่ติดกับอ่าวมาหยา เป็นการแสดงและบ่งบอกให้เห็นว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในท้องทะเลกระบี่ หมู่เกาะพีพีในรอบปีนี้ เป็นผลมาจากมาตรการปิดอ่าวมาหยา ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลและบนบก ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัด จนทำให้สัตว์น้ำหายากและใกล้จะสูญพันธุ์หวนกลับคืนสู่ถิ่นเดิม สร้างความตื่นเต้นให้แก่เจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยวที่ได้พบเห็นในแต่ละครั้ง

ฉลามวาฬเป็นสัตว์ทะเลที่หาดูได้ยาก ทั้งเป็นสัตว์สงวนหวงห้าม มาแหวกว่ายที่เกาะบิดานอก เป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศวิทยาใต้ทะเลบริเวณดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ มีมาตรการเข้มงวดในการปิดอ่าว ทั้งการปราบปรามการลักลอบทำการประมงจับสัตว์น้ำในเขตอุทยาน รวมทั้งกลุ่มอนุรักษ์เกาะพีพีได้มีการจัดเก็บขยะใต้ทะเลในหมู่เกาะพีพีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะพีพี ให้ความร่วมมือมาด้วยดีโดยตลอด จึงทำให้สัตว์น้ำที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือหาดูได้ยากหวนกลับมายังถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมเข้ามาหากิน เพราะถือว่าแหล่งที่มาหากินนั้นมีความปลอดภัยสูง สามารถขยายพันธุ์และเลี้ยงลูกได้อย่างปลอดภัย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์