Admin 2 ธ.ค. 2562

"ลดโลกเลอะ X รักษ์ปันสุข" แก้วิกฤติขยะล้นโลก เปลี่ยนขวด PET เป็นประติมากรรม "เต่ามะเฟืองแม่ลูก" ริมหาดจอมเทียน

ททท.ร่วมกับบางจากฯ และเทศบาลเมืองพัทยา จัดโครงการ "ลดโลกเลอะ X รักษ์ปันสุข" รณรงค์ "ลดขยะพลาสติก" และ "หมุนเวียนนำกลับมาใช้ซ้ำ" แก้วิกฤติขยะล้นโลก ด้วยแนวคิดส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เปลี่ยนขยะให้เป็นงาน "ศิลปะ" นำขวด PET มาสร้างเป็นประติมากรรม"เต่ามะเฟืองแม่ลูก" ติดตั้งริมชายหาดจอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม

5 (1)

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาขยะทะเล และพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั่วประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถปรับอันดับประเทศที่มีขยะทางทะเลสูงสุดในโลกจากอันดับ 5 ลงมาอยู่ที่อันดับ 10 ได้สำเร็จ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการแก้ปัญหาของประเทศไทย

"ททท. ในฐานะบทบาทหลักในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยตระหนักถึงเรื่องนี้ โดยได้ทำปฏิญญา ?ลดโลกเลอะ? และในโอกาสที่ ททท. ครบรอบ 60 ปี ในปี 2563 ททท. มีแนวคิดและให้ความสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) โดยได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และได้ดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง รณรงค์ปลูกจิตสำนึกและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยว ร่วมกันรับผิดชอบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างภาระขยะในแหล่งท่องเที่ยว"

"พร้อมกันนี้ ยังกำหนดเป้าหมายลดการใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ลดลงร้อยละ 50 ภายในปี 2563 ลดขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastics) อาทิ หลอด ฝาครอบแก้ว ถุง กล่องอาหาร พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้วัสดุสำหรับทดแทนพลาสติกและภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้ เช่น การใช้ถุงผ้า กระบอกน้ำ กล่องข้าวพกพา หลอดดูดน้ำจากวัสดุธรรมชาติ การใช้ผ้าเช็ดหน้า เพื่อไม่สร้างภาระในการกำจัดให้กับแหล่งท่องเที่ยวและชุมชน อีกทั้ง ยังช่วยรักษา ความสวยงามให้คงอยู่ตลอดไป"

5

ล่าสุดเพื่อกระตุ้นคนในสังคมให้ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเทศบาลเมืองพัทยา จัดทำโครงการ "ลดโลกเลอะ x รักษ์ปันสุข" ด้วยการรวมพลังและความร่วมมือในการลดใช้พลาสติก และหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์โดย ททท. และบางจากฯ ขอเชิญชวนนักเดินทางร่วมบริจาคขวด PET ที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก เพื่อนำมาสร้างสรรค์งานประติมากรรมรูป ?เต่ามะเฟืองแม่ลูก? สัตว์สงวนที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก ขนาด 6x8 เมตร ณ บริเวณริมชายหาดจอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 - มิถุนายน 2563 เพื่อเป็นสัญลักษณ์รณรงค์การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะจัดงานเปิดตัวประติมากรรมอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ธันวาคม 2562

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ เน้นการนำนวัตกรรมมาเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างความยั่งยืน ยึดแนว BCG Economy Model สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเน้น Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) มุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นกรอบใหญ่ ครอบคลุม Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และ Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) ที่ใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพหรือวัสดุหมุนเวียน

โดยได้ใช้แนวคิดนี้ในทุกกระบวนการธุรกิจของบริษัทฯ ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 S และ ไฮพรีเมียมดีเซล S ที่ได้มาตรฐาน Euro 5 รวมทั้งการริเริ่มใช้แก้ว ฝา และหลอด ที่ย่อยสลายได้ 100% ในร้านอินทนิลทุกสาขา เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ริเริ่มโครงการ "รักษ์ ปัน สุข" จัดให้สถานีบริการน้ำมันบางจากเป็นจุดรวบรวมขวด PET นำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ส่งมอบหมวกกันแดดผลิตจากเส้นใยรีไซเคิลจากขวดพลาสติก PET ให้กับกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ด้านรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะของกทม. จำนวน 50 เขต รวมจำนวน 11,000 ใบ

ในโอกาสครบรอบ 35 ปีบางจากฯ บริษัทฯ ได้ต่อยอดโครงการรักษ์ ปัน สุข ด้วยการร่วมมือกับ ททท. จัดทำโครงการ ?ลดโลกเลอะ x รักษ์ปันสุข? เพื่อรณรงค์การลดขยะพลาสติกกับกลุ่มนักเดินทาง โดยจัดจุดรวบรวมและ รับบริจาคขวดน้ำดื่ม PET ที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ชลบุรี ระยอง จันทบุรี จำนวน 262 จุด เพื่อนำขวด PET ไปสร้างประติมากรรมรูปเต่ามะเฟืองแม่ลูก พร้อมนิทรรศการให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้น จะนำขวดพลาสติกทั้งหมดไปรีไซเคิลผลิตเป็นหมวกกันแดดเพื่อส่งมอบ ให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่ดูแลรักษาความสะอาดในเมืองพัทยานำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

750x422_848473_1569329839

"การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ทุกคนจะต้องร่วมมือกันลดการใช้พลาสติกทุกชนิดอย่างจริงจัง ลดการเกิดขยะจากต้นทาง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกใช้สิ่งของด้วยการ Reduce - Reuse - Recycle โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single - use plastics) เริ่มจากตัวเราในองค์กร เช่น การไม่ใช้หลอด / ขวดพลาสติก ในการประชุม การใช้แก้วชีวภาพ และการลดขยะพลาสติก จึงขอเชิญชวนลูกค้าบางจาก นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปร่วมนำขวด PET ใช้แล้วมาบริจาค เพื่อร่วมลดขยะพลาสติก ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และแบ่งปันความสุขให้สังคม ช่วยรักษาชีวิตของเต่าทะเล และสัตว์ทะเลอื่นๆ ให้คงอยู่ตามธรรมชาติไว้ให้ลูกหลานในอนาคต"

นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่า เมืองพัทยา เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกและถือเป็นส่วนหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : EEC ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากจากทั่วทุกมุมโลก สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ในทุกรูปแบบ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวได้ตลอด 24 ชม. และครอบคลุมทุกอายุ ด้วยเหตุนี้พัทยาจึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการปัญหาขยะในทะเลโดยตรง ซึ่งส่งผลกระทบกับสัตว์ทะเลโดยตรง ดังที่มีข่าวการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลจำนวนมากจากขยะพลาสติกไม่ว่าจะเป็นเต่าทะเล พะยูน ที่พบว่าเสียชีวิตจากการกลืนกินพลาสติกเข้าไป

"ส่วนเมืองพัทยากำลังดำเนินงานอยู่แล้ว จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดสรรพื้นที่ในการติดตั้ง ประติมากรรม "เต่ายักษ์" บริเวณโค้งดงตาน หาดจอมเทียน เมืองพัทยา ซึ่งเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าประติมากรรมชิ้นนี้จะช่วยดึงดูดความสนใจ และสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ต่างชาติ รวมไปถึงชาวพัทยาทุกคนได้เป็นอย่างดี เพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ร่วมมือกันดูแลชายหาดเมืองพัทยาให้สะอาดสวยงาม ลดการใช้ทรัพยากร ลดขยะพลาสติกให้ได้มากที่สุด"

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์