Admin 31 ต.ค. 2562

แม่น้ำโขงเหือดแห้ง-ผันผวน ชะตากรรมพื้นที่ท้ายเขื่อนไซยะบุรี

621031_BBC_01_zps7fxnd8vd

สภาพน้ำโขงที่ อ.สังคม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562

ภาพมุมสูงของแม่น้ำโขงช่วง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่แห้งลงจนเหลือให้เห็นเพียงร่องน้ำช่วงกลาง เป็นภาวะผิดไปจากธรรมชาติตามฤดูกาลของแม่น้ำโขงที่เคยเป็นมาทุกปี "ต.ค. - พ.ย. น้ำมาก พอจะถึงเทศกาลลอยกระทง น้ำจะเข้าบุ่งอยู่แล้ว แต่นี่ไม่มีน้ำเลย มันลดมากถึง 10 เมตร ผิดปกติมาก" ก้านก่อง จันลอง ประธานกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำโขง ชาวบ้านห้วยค้อ ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของสายน้ำที่เธอเห็นมาตั้งแต่เกิด "มาปีนี้ต้นไคร้ตายหมดเลย ปกติช่วงนี้จะต้องอยู่ใต้น้ำ....พี่อยู่นี่ 40 ปี ยังไม่เคยเห็นว่าพื้นน้ำเป็นพื้นหินขนาดนี้"

ก้านก่อง กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มลดลงและค่อย ๆ แห้งลงตั้งแต่ช่วงวันที่ 23-24 ต.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวานนี้ (29 ต.ค.) ขณะที่เมื่อคืนที่ผ่านมาน้ำค่อย ๆ เพิ่มระดับขึ้นมาราว 1-2 ฟุต สถานการณ์แม่น้ำโขงแห้งขอด ปรากฏให้เห็นแก่งหิน ดอนทรายที่เกิดขึ้นที่ อ.สังคม จ.หนองคาย ย้อนขึ้นไปถึง อ.เชียงคาน จ.เลย เกิดขึ้นในจังหวะเวลาเดียวกับเขื่อนไซยะบุรี ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 ต.ค.ที่ อ.สังคม ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายเขื่อนไซยะบุรี ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 200 กม.

ประธานกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำโขง ให้ข้อมูลอีกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อคืนวันที่ 22 ต.ค. ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นสูงอย่างรวดเร็วถึง 3 เมตร ภายในชั่วข้ามคืน สร้างความเสียหายให้กับชาวประมงริมแม่น้ำโขงในหมู่บ้าน เบ็ด และตาข่ายดักปลาที่ชาวประมงลงทุนไว้หายไปกับสายน้ำ "เรือชาวประมงหายไปหมด น้ำแรงมากเลย เรือ (หมู่) บ้านพี่ต้องไปตามประมาณสิบกิโล ได้คืนบ้างไม่ได้คืนบ้าง" ไม่เพียงเผชิญกับการแห้งขอดของสายน้ำเท่านั้น แต่สิ่งที่ชาวบ้านพบเห็นมาตั้งแต่เดือน ก.ค. คือ ความผันผวนของระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดปกติ และยิ่งหนักขึ้นในเดือน ต.ค.

"สิบกว่าวันมันแห้งแล้วน้ำ สองวันขยับขึ้น แล้วลงอีก.... ไม่รู้ว่าชาวบ้านจะปรับตัวกันยังไง พูดถึงวิถีชีวิต คนแก่อายุ 70-80 ที่หาปลามา เขาบอกน้ำเป็นตะกอน น้ำขึ้นน้ำลงธรรมชาติ หรือมีน้ำป่าในรอบ 30 ปี เขาก็ปรับสภาพได้ แต่นี่กลายเป็นคนกำหนด น้ำสาขาไม่มีเลย" ก้านก่อง กล่าวกับบีบีซีไทย

621031_BBC_02_zps3ck3m2ax

นักรณรงค์และชาวบ้านชุมนุมคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนในลาวที่ริมแม่น้ำโขงในจังหวัดเลย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของปีนี้ที่แม่น้ำโขงในบริเวณนี้แห้งลงผิดฤดูกาล แต่เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แม่น้ำโขงใน อ.สังคม จ.หนองคาย จ.เลย บึงกาฬ และนครพนม ก็ลดระดับลงอย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 50 ปี สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุสาเหตุในครั้งนั้นว่าเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าปกติทั้งในจีน ลาว ไทย การลดระดับการระบายน้ำของเขื่อนในจีน และการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีของ สปป. ลาว เขื่อนไซยะบุรี ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป. ลาว มีบริษัทซีเค พาวเวอร์ จำกัด เครือ ช.การช่าง เป็นผู้ก่อสร้าง เป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างบริเวณ สปป. ลาว ห่างจากประเทศไทย ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ราว 200 กม. ตัวสันเขื่อนพาดกั้นลำน้ำโขง มีความยาว 810 เมตร กำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ทำสัญญาขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 29 ปี และจำหน่ายไฟฟ้าให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว 60 เมกะวัตต์

621031_BBC_03_zpswlegd0q7

หนังสือพิมพ์ลงภาพโฆษณาการเปิดเดินเครื่องเขื่อนไซยะบุรี

บริษัท ซีเค พาวเวอร์ เครือ ช.การช่าง ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความคืบหน้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. และได้ออกเอกสารชี้แจง โดยยืนยันว่าเขื่อนแห่งนี้เป็นลักษณะ "ฝายทดน้ำขนาดใหญ่" เขื่อนน้ำผ่านหรือ "run-of-river" ซึ่งไม่ได้กักน้ำ จึงไม่ใช่ต้นเหตุทำให้น้ำโขงน้อยกว่าปกติ ขณะที่แม่น้ำโขงที่ จ.หนองคาย และ จ.เลย เหือดแห้ง บนหน้าหนังสือพิมพ์ระดับชาติของไทยและภาษาอังกฤษของวันที่ 29 ต.ค. ลงข่าวประชาสัมพันธ์การดำเนินการของเขื่อนไซยะบุรีหลายฉบับ ระบุถึงการดำเนินการที่ยั่งยืน

บีบีซีไทยติดต่อไปยังบริษัท ซีเค พาวเวอร์ เพื่อขอคำชี้แจงเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ขณะที่เว็บไซต์ของบริษัทระบุว่าบริษัทมีวิสัยทัศน์ในการเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน ที่มีการดำเนินงานอันมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีพันธกิจในการสร้างผลตอบแทนที่ดี มั่นคงและเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้น ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับสิ่งแวดล้อม ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

621031_BBC_04_zpsvumwkjko

แม่น้ำโขงส่วนนี้อยู่ห่างจากเขื่อนไซยะบุรีราว 300 กิโลเมตร

ความกังวลที่เกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรีในลาว คือ ผลกระทบข้ามแดนที่มายังไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของเครือข่ายชาวบ้าน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ให้ที่ประชุมผู้นำอาเซียนที่จะจัดขึ้นในไทยต้นเดือน พ.ย. นี้ หยิบยกมาเป็นวาระสำคัญ เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วนของภูมิภาค และเรียกร้องให้ภาคเอกชนไทย ที่เป็นเจ้าของโครงการ และธนาคารไทย ผู้สนับสนุนโครงการ ได้แสดงความรับผิดชอบและมีมาตรการแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

เพียรพร ดีเทศน์ ผอ. รณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ระบุว่า พื้นที่ในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบ คือ พรมแดนไทยลาวตอนล่าง ตั้งแต่ปากแม่น้ำเหือง อ.เชียงคาน ไล่ลงมาถึง จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ จนถึง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี รวม 7 จังหวัด

ที่มา: BBC NEWS