Admin 16 ม.ค. 2560

สุราษฎร์ฯ เร่งผลักดันน้ำลงทะเล รับมือฝนระลอกใหม่ 18 ม.ค.

EyWwB5WU57MYnKOtTt813WOSQQFm3UW3fevWVstYx3dC2JBPqzmBQ6

สุราษฎร์ธานี ระดมเรือผลักดันน้ำ 32 ลำ เดินเครื่องระบายออกทะเล เตรียมรับมือฝนหนักอีกระลอก 18 ม.ค. ด้าน อปท. เร่งลงช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 60 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุราษฎร์ธานี มวลน้ำก้อนใหญ่จาก อ.พระแสง และ อ.เคียนซา ส่งผลท่วมในพื้นที่ลุ่ม อ.พุนพิน โดยชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่มีบ้านบริเวณทางเข้าศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี ต.ท่าข้าม ได้ขนย้ายสิ่งของขึ้นมาตั้งเต็นท์ที่พักชั่วคราวบนถนนสุราษฎร์ฯ-ตะกั่วป่า ใกล้สะพานเก่าข้ามตาปี ช่วงเขาหัวควาย-กม.18 แล้ว

นายวีระ เพ็งทอง ผอ.โครงการชลประทานจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า กรมชลประทานเฝ้าติดตามลุ่มแม่น้ำตาปี ในพื้นที่น้ำท่วม อ.พระแสง อ.เคียนซา และ อ.พุนพิน พบว่า อ.พระแสง น้ำลดลงสู่ตลิ่งแล้ว ส่วน อ.เคียนซา ยังล้นตลิ่งที่ 1.50 เมตร มีแนวโน้มลดลงไหลบ่าลงพื้นที่ตอนล่าง ซึ่งมวลน้ำก้อนใหญ่ไหลลงมาพื้นที่ อ.พุนพิน ได้มีการเร่งผลักดันแม่น้ำตาปีออกทะเล โดยเรือผลักดันน้ำกองทัพเรือที่สะพานจุลจอมเกล้า 2 เทศบาลเมืองท่าข้าม จำนวน 16 ลำ ที่สะพานคลองพุนพิน ต.ศรีวิชัย 10 ลำ และของกรมชลประทานอีก 6 ลำ ที่สะพานคลองบางกล้วย ต.บางใบไม้ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี รวม 32 ลำ เร่งดันน้ำผ่านคลองพุนพินออกสู่อ่าวไทย คาดว่า 1-2 วันนี้ อ.พระแสง จะเข้าสู่ปกติ ส่วน อ.เคียนซา น้ำจะลดสู่ปกติในวันที่ 20 ม.ค. เวลาประมาณ 23.00 น. และหลังวันที่ 20 ม.ค. เป็นต้นไปน้ำจะลดลงตลิ่ง ซึ่งเหลือที่ อ.พุนพิน ท่วมสูง 1-1.50 เมตร ในพื้นที่ ต.ท่าข้าม ต.เขาหัวควาย ต.กรูด ต.ท่าสะท้อน การระบายน้ำต้องรีบผลักดันในช่วงน้ำลงและไม่มีน้ำทะเลหนุน

“ขณะนี้แนวโน้มน้ำลดลงถ้าไม่มีฝนตกลงมากในพื้นที่ลุ่มน้ำตาปี คาดว่าวันที่ 18 ม.ค. ฝนจะหนักในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี แต่หากไม่เกิน 100 มิลลิเมตร มั่นใจว่าจะไม่ท่วมเขตพื้นที่เศรษฐกิจเทศบาลเมืองท่าข้าม อย่างแน่นอน จะมีแต่ในพื้นที่ลุ่ม ซึ่งจะต้องเร่งพร่องน้ำที่มีอยู่นี้ออกไปก่อนให้ทันรับมือ” นายวีระ กล่าว

NjpUs24nCQKx5e1A652NkaGHZCtriLkVSZyLwBkrHER

ด้าน พล.ต.ท.เทศา ศิริวาโท ผบช.ภ.8 ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจทางอากาศ พบว่าหลายพื้นที่ยังคงถูกน้ำท่วมขังอยู่มาก โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรนับ 100,000 ไร่ บ้านเรือนประชาชนริมแม่น้ำและในที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.เคียนซา ตอนล่าง และ อ.พุนพิน ขณะที่ นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ระดมรถแบ็กโฮ เครื่องจักรกลหนัก รถน้ำ และเครื่องมือต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือซ่อมถนน สะพาน และล้างโคลนเพื่อเปิดเส้นทางให้ประชาชนเข้าออกและเข้าไปช่วยเหลือได้

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ได้เข้าสำรวจพระบรมธาตุไชยา ที่วัดพระธาตุไชยาราชวรวิหาร อ.ไชยา ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรอบองค์พระธาตุ และในวิหารหลวงสูง 50-60 เซนติเมตร หลังมีการเร่งสูบน้ำระบายออกภายใน 36 ชั่วโมง เบื้องต้นพบว่าส่วนฐานขององค์พระธาตุไม่มีความเสียหายมีเพียงคราบตะไคร่จากความชื้นซึ่งทำความสะอาดแล้ว ถือว่าองค์พระธาตุยังสมบูรณ์


ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/837041