Admin 4 ต.ค. 2562

ชาวประมงเก็บภาพ ฉลามวาฬโผล่หากินอ่าวคั่นกระได ชี้ธรรมชาติสมบูรณ์

ฉลามวาฬโผล่กินฝูงปลาที่อ่าวคั่นกระได ชาวประมงเผยมาให้เจอทุกปี เหตุความสมบูรณ์ของทะเล สัตว์น้ำจำนวนมากอาศัยซังกอที่ชาวบ้านสร้างเป็นแหล่งขยายพันธุ์ อนุบาลของสัตว์น้ำวัยอ่อน

621004_Thairath_01_zpsyi5gccou

เครดิตภาพ นายจีรศักดิ์ มีฤทธิ์

เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2562 นายจีรศักดิ์ มีฤทธิ์ อายุ 44 ปี ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้พบฉลามวาฬขนาดใหญ่ยาวประมาณ 6 เมตร ออกหากินที่หน้าอ่าวคั่นกระได ห่างจากฝั่งประมาณ 2 ไมล์ทะเล ที่ระดับน้ำลึก 7 เมตร โดยฉลามตัวดังกล่าวว่ายวนเวียนไปขณะที่ไล่กินฝูงปลาหลังเขียว หรือปลาอกแล (อ่านออกเสียงชื่อปลาว่า อก-กะ-แล) โดยตนเองได้ถ่ายทอดสดในกลุ่ม Facebook ประจวบคีรีขันธ์ (เมืองสามอ่าว) เพื่อให้แฟนเพจได้เห็นความสมบูรณ์ของธรรมชาติในอ่าวคั่นกระได ขณะที่กำลังนำเรือประมง จ.ทรัพย์อนันต์ พร้อมลูกเรืออีก 2 คน ภายหลังจับปลาหลังเขียวเสร็จสิ้นแล้วเตรียมกลับเข้าฝั่ง

ฉลามวาฬตัวนี้ เมื่อเห็นเรือประมงชาวบ้าน ไม่ได้แสดงอาการตกใจ หรือดำน้ำหนีให้พ้นเครื่องยนต์เรือ และตนเองไลฟ์สดไม่เกิน 10 นาที เพราะไม่ต้องการรบกวนการล่าเหยื่อของฉลามวาฬ สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ตนเอง และแฟนเพจที่ติดตามดูการถ่ายทอดสดจำนวนมาก โดยในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี จะปรากฏฉลามวาฬออกหากินในน่านน้ำทะเลอ่าวคั่นกระไดเป็นประจำ

ตลอดระยะ 3 ปี ที่ผ่านมา ชาวประมงบางรายเคยเห็นฉลามวาฬมาครั้งเดียวถึง 4 ตัว เนื่องจากบริเวณแห่งนี้ กลุ่มชาวประมงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได และเป็นเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันสร้างซังกอหน้าอ่าว ตั้งแต่ชายฝั่งถึงระยะ 3 ไมล์ทะเล ด้วยการวางจุดแท่นคอนกรีต ไม้ไผ่และทางมะพร้าว ทำให้บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง เป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำวัยอ่อน จึงมีสัตว์น้ำหลากหลายประเภท ที่มีปริมาณหนาแน่น คือ ปลาหลังเขียว ปลาจิ้งจั้ง กุ้งแชบ๊วย ปูม้า หมึกสาย และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่อาศัยเกื้อกูลในระบบนิเวศประกอบกับกฎหมายที่เข้มงวดเรือประมงพาณิชย์ทำการประมงในระยะ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ส่งผลให้สัตว์น้ำขนาดใหญ่ทั้งหลาย รู้สึกปลอดภัย สามารถหากินอาหารที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์

ทั้งนี้ ฉลามวาฬ (whale shark) เป็นสัตว์เลือดเย็นเหมือนกับปลาทั่วไป คือ มีอุณหภูมิร่างกายใกล้เคียงกับอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ เคลื่อนที่ช้าที่กินอาหารแบบกรองกิน เป็นสัตว์ทะเลที่ขนาดใหญ่ที่สุด ยาวถึง 12.65 เมตร หนัก 21.5 ตัน และฉลามวาฬยังได้จัดอันดับให้เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ฉลามวาฬพบแพร่กระจายในทะเลในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ประเทศไทยของเราพบฉลามวาฬได้ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย เป็นสัตว์สงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์