Admin 18 ก.ย. 2562

3 เหตุผล ที่เราต้องช่วยกันปกป้องมหาสมุทรโลก

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ (United Nations) มีการประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาเรื่อง สนธิสัญญาทะเลหลวง (Gloval Ocean Treaty) โดยถือเป็นการประชุมครั้งที่ 3 จากทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งในครั้งนี้การประชุมจัดขึ้นในมหานครนิวยอร์ก

สนธิสัญญาทะเลหลวง หมายถึงอะไรและมีความสำคัญต่อมหาสมุทรโลกในอนาคตอย่างไร?

คำตอบก็คือ สนธิสัญญาฉบับนี้จะช่วยปกป้องพื้นที่กว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ในมหาสมุทร ตามข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำไว้

2-1

ทั้งนี้ คณะผู้แทนจากกรีนพีซได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำระดับนานาชาติต่อประเด็นกฎหมายสากลที่บังคับใช้ในพื้นที่น่านน้ำสากล ณ ห้องประชุมขององค์การสหประชาชาติ โดยหนึ่งในหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้มีการพูดถึงมาตรการดูแลรักษาพื้นที่ความหลากหลายทางชีวิภาพทางทะเลในน่านน้ำสากล

และนี่คือ 3 เหตุผล ว่าทำไมเราถึงต้องช่วยกันปกป้องมหาสมุทรโลก

1. เพิ่มเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล = เพิ่มชีวิตสัตว์ทะเล!

จากผลวิจัยระบุว่า เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล จะช่วยให้ชีวมวลของสัตว์ทะเลและพืชเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า และยังขยายพื้นที่ออกเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเหล่าสัตว์ทะเลที่ถูกคุกคามอีกด้วย เช่น วาฬและเต่าทะเล

ยิ่งไปกว่านั้น เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลยังช่วยปกป้องห่วงโซ่อาหารใต้ทะเลและสร้างความยั่งยืนในกับความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งสำคัญอีกข้อของเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลนี้ก็คือ จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้กับสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรในการต่อสู้กับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสภาวะความเป็นกรดในมหาสมุทร

2-2

พื้นที่ใต้ทะเลที่ได้รับการคุ้มครอง บริเวณเกาะ ทาโวลารา เซ็คคา ปาปา ประเทศอิตาลี Egidio Trainito / Greenpeace

2.เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล ทำให้ฝูงปลาในทะเลเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

จากการวิจัยของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน โดยเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลนี้มีส่วนช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวและการทำประมงนอกเขตคุ้มครอง โดยต้นทุนสำหรับการพัฒนาเขตคุ้มครองทางทะเลสามารถเห็นผลไดภายในเวลา 5 ปี ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก

ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ชิลี นิวซีแลนด์ และเกาะปาเลา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีความเป็นไปได้ในเชิงนโยบายที่จะกำหนดพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ห้ามไม่ให้อุตสาหกรรมเช่น อุตสาหกรรมการประมง เหมืองแร่และการขุดเจาะน้ำมัน เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ได้ นอกจากประเทศเหล่านี้แล้วยังมีแคนาดาที่เพิ่งประกาศจำกัดพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเหล่านี้อีกด้วย ดังนั้น การกำหนดเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในน่านน้ำสากลก็เปรียบเสมือนการนำไปสู่การกระจายเขตคุ้มครองให้กับทรัพยากรใต้ทะเลทั่วๆกัน ซึ่งรัฐใกล้ชายฝั่งไปจนถึงประเทศหลายประเทศในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ก็จะได้รับผลประโยชน์จากการกำหนดเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย

2-3

ชาวประมงที่อ่าว ฟาส บอย (Fass Boye) สาธารณรัฐเซเนกัล  Elodie Martial / Greenpeace

3.เขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลจะช่วยปกป้องเราจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

เชื่อหรือไม่ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกมากกว่าครึ่ง ถูกกักเก็บไว้ในซากของสัตว์ทะเล! ทั้งนี้ไม่เพียงแต่บริเวณที่มีพรุน้ำเค็ม ป่าชายเลน และผืนสาหร่ายและหญ้าทะเล ที่ทำหน้าที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ยังช่วยชะลอผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แม้กระทั่งอุจจาระของวาฬหรือสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นๆเช่นแพลงก์ตอนพืชซึ่งอาศัยอยู่ในน่านน้ำสากลเองก็มีส่วนช่วยในการดูดซับและแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศลงสู่มหาสมุทร

2-4

ในอ่าวเกรตออสเตรเลียนไบท์ (Great Australian Bight)  Greenpeace / Jaimen Hudson

หลังจากนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป?

ในก้าวต่อไปของเรา เรายังคงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อผลักดันให้สนธิสัญญาทะเลหลวงเกิดขึ้นจริง และต้องให้แน่ใจด้วยว่าเสียงของเราและคนอีกหลายล้านคนเข้มแข็งมากพอที่จะทำให้เหล่าผู้นำโลกมองเห็น

ปัจจุบัน มีพื้นที่ของทะเลหลวงน้อยกว่าร้อยละ 1 ที่ได้รับการปกป้อง ดังนั้นเราจำเป็นต้องเพิ่มอีกร้อยละ 29 ตามที่นักวิทยาศาสตร์ได้แนะนำไว้ว่าควรปกป้องมหาสมุทรร้อยละ 30 หรือมากกว่านั้น ด้วยระบบโครงข่ายเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลทั่วโลก

หากเราต้องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเล เราจำเป็นต้องฟื้นฟูสปีชีส์ของสัตว์ทะเลที่ถูกคุกคามและทำให้มหาสมุทรของเรามีความยืดหยุ่นในด้านการชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และเราต้องการผลักดันการเจรจาในเชิงนโยบายที่ดีขึ้นของสนธิสัญญาทะเลหลวง และเราจะเป็นต้องลงมือทำจริงแทนการเจรจาและการพูดคุยที่เกิดขึ้นแค่เพียงในกระดาษ

ที่มา:กรีนพีซ