Admin 17 ก.ย. 2562

มักง่าย! เรือท่องเที่ยวทุบหม้อข้าวตัวเอง ใช้ปะการังผูกทุ่นเรือเสียหายยับ

ปะการังไม่ใช่ทุ่นผูกเรือ ผู้ประกอบการไร้จิตสำนึก ใช้ปะการังเป็นฐานผูกทุ่น ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบทำผิดดำเนินคดีตามกฎหมายทันที

562000009206001

ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค Jirapong Jeewarongkakul

จากกรณี นายจิระพงศ์ จีวรงคกุล นักวิชาการอิสระ ผู้จัดการฝ่ายมูลนิธิเอ็นไลฟ และที่ปรึกษากลุ่ม Reef Guardian Thailand โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Jirapong Jeewarongkakul ซึ่งเป็นภาพเรือท่องเที่ยวใช้ปะการังโขดขนาดใหญ่ ที่อ่าวขอนแค เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต เป็นฐานในการผูกทุ่นเรือเพื่อส่งนักท่องเที่ยวลงไปดำน้ำ โดยระบุว่า ปะการังขนาดใหญ่พังย่อยยับ เพราะถูกใช้เป็นฐานทุ่นผูกเรือเพื่อส่งนักดำน้ำ แล้วปะการังเหล่านี้ก็ถูกฉุดกระชากลากถูไปบดเอาปะการังอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เป็นการกระทำที่ชอบอ้างว่า ใครๆ เขาก็ทำกันมานานมากแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าว ปรากฏว่ามีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก โดยล่าสุด นายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 ได้สั่งการให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว หากพบปะการังถูกผูกเชือกใช้แทนฐานทุ่น (ตามที่เป็นข่าว) ยังมีชีวิต ให้แจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายต่อเรือที่กระทำการดังกล่าว

แต่หากเป็นปะการังตาย ให้แจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานไว้ก่อน แล้วสืบสวนต่อไป สำหรับในการแก้ปัญหานี้จะทำการสำรวจพื้นที่จัดทำฐานทุ่นเพิ่มในบริเวณอ่าวขอนแค ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เรือทิ้งสมอบริเวณดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ไปทำลายปะการังที่มีชีวิตอยู่ได้รับความเสียหาย

562000009206003

ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค Jirapong Jeewarongkakul

เหตุการณ์แบบในภาพนี้เกิดจากหลายสาเหตุที่ต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป เท่าที่ผมพอคิดออก คือ

1) การเลือกฐานธรรมชาติที่ผิดพลาด ในปัจจุบันหลายหน่วยงานมีการจัดสร้างฐานเพื่อการติดตั้งทุ่นจอดเรือขนาดต่างๆ เพื่อรองรับเรือหลายๆ ประเภท โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะมีทุ่นสีต่างๆ ที่ยึดกับฐานขนาดต่างๆ เพื่อบอกให้รู้ว่าเป็นทุ่นสำหรับผูกเรือขนาดไหนได้บ้าง การใช้ฐานธรรมชาติหากผู้ผูกไม่มีความชำนาญหรือประสบการณ์พอ ก็จะเลือกฐานที่ไม่มั่นคงพอและจะเกิดเหตุการณ์ดังในภาพนี้

2) บางพื้นที่ทุ่นไม่เพียงพอต่อการใช้งานทำให้เรือนำเที่ยวดำน้ำหลายลำใช้วิธี หาจุดผูกทุ่นเองเพราะไม่อยากทิ้งสมอ ซึ่งบางครั้งก็เกิดเหตุการณ์ตามข้อที่ 1 ที่กล่าวข้างต้น เพราะไม่รู้ว่าฐานทุ่นแข็งแรงพอหรือไม่ อันนี้ถือว่าเป็นจิตสำนึกที่ดี แต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์

3) ทุ่นที่ผูกไว้ไม่สื่อให้เข้าใจได้ว่าฐานทุ่นข้างล่างแข็งแรงพอจะทนแรงกระชากได้หรือไม่ บางจุดเป็นเพียงแกลลอนน้ำมันผูกหมายไว้ ผมเคยไปดำน้ำปลูกปะการังที่เกาะราชาใหญ่ ขนาดขวดน้ำเปล่าที่ผมผูกเป็นทุ่นหมายแนวไว้ด้วยเชือกเล็กๆ ยังมีเรือท่องเที่ยวที่พยายามเข้ามาผูกที่ทุ่นหมาย ด้วยความขาดแคลนทุ่นผูกเรือ..เวรกรรม

4) บางแห่งแม้จะมีทุ่นที่ระบุประเภทเรือที่จอดได้ แต่เรือที่ผูกก็ดันไม่รู้จักว่าทุ่นสีอะไรจอดเรืออะไรได้บ้าง หรือรู้แล้วก็ยังดันทุรังทำ เช่น บางที่ทุ่นขาวที่ผูกกับฐานธรรมชาติไม่แข็งแรงนัก ไว้สำหรับผูกเรือหางยาวเล็กๆ ก็ดันมีเรือคาตามารันลำใหญ่เบ้อเริ่มไปจอดผูกเพื่อจะได้ส่งนักท่องเที่ยวใกล้ๆ มันก็พังสิครับ

562000009206005

ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค Jirapong Jeewarongkakul

5) ทุ่นมีเท่าไหร่ก็ไม่พอเพราะขาดทุกปี แต่ฐานทุ่นที่หล่อตามมาตรฐาน และติดตั้งไว้ดีๆ ถ้าทำดีๆ มีบันทึกจุดไว้ยังไงก็ไม่น่าจะหาย ทุ่นด้านบนหายก็กลับมาผูกที่ฐานเดิมได้ แต่ถ้ายังผูกกับฐานปะการังธรรมชาติอาจหายได้ทั้งทุ่นทั้งฐาน ฉะนั้น หล่อฐานทุ่นมาตรฐานไปติดต้องให้เพียงพอเถอะครับ ปัจจุบันเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยีมีพร้อมแล้ว บางเรื่องที่ไม่ควรพึ่งพาธรรมชาติก็อย่าไปพึ่ง

562000009206002

ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค Jirapong Jeewarongkakul

6) อันนี้ปัญหาโลกแตก ในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตอุทยานฯ มักไม่มีเจ้าหน้าที่คอยกวดขันการใช้ทุ่นให้ถูกประเภท (ขนาดในอุทยานฯ บางที่ก็ไม่มี) โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีการท่องเที่ยวอย่างหนาแน่น และมีผู้ประกอบการที่มักง่ายเห็นแก่ตัวอยู่เต็มไปหมด ความเสียหายจากการใช้ผิดประเภทแบบนี้อาจเกิดขึ้นให้เห็นเรื่อยๆ หากยังไม่มีการทบทวนและหาวิธีแก้ไข เราพยายามฟื้นฟูแนวปะการังจะระดมปลูกปะการังกิ่งเล็กๆ ไปเท่าไหร่ก็ไม่พอ หากปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสียหายยังไม่ลดลงไป หากยังมีเรือทิ้งสมอเพราะไม่มีที่ผูกเรือที่เพียงพอ หากไม่มีการจัดระเบียบเรือท่องเที่ยว ปลูกวันนี้ 10 ต้น พรุ่งนี้พัง 100 ต้น ยังไงก็ไม่ทัน กลับมาแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดถูกที่กันดีกว่าครับ

ที่มา:MGR ONLINE