Admin 12 ก.ย. 2562

มาเรียมถึงปลาทู ไมโครพลาสติก ขยะพิษจิ๋ว 1 ปีคนไทยกลืนกินเท่าบัตรเครดิต

หากใครได้ติดตามข่าวในช่วง 2-3 เดือนนี้ คงจะทราบว่า ทะเลไทย กำลังมีปัญหา “ขยะ” โดยเฉพาะ “พลาสติก” โดยเป็นที่น่าตกใจคือการตายของเจ้า “มาเรียม” พะยูนขวัญใจคนไทย ที่ท้ายที่สุดก็ต้องมรณาไปเพราะน้ำมือมนุษย์ ด้วยการกินถุงพลาสติกแล้วไปอุดตันที่ลำไส้

620912_Thairath_01_zpsdz0q3w2e

ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ เฟซบุ๊กศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ได้โพสต์ภาพปลาทู พร้อมระบุข้อความ ระบุว่า ในกระเพาะของปลาทูมีค่าเฉลี่ยของ “ไมโครพลาสติก” เฉลี่ยที่ 78.04 ชิ้น.. สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ขยะประเภทพลาสติก ได้กระจัดกระจายไปทุกหย่อมหญ้าแล้ว สัตว์ที่อยู่ในน้ำหรือบนบกได้กินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว หากเรากินสัตว์เหล่านี้เข้าไปอีกทอดจะเกิดอะไรขึ้น เราจะสังเกตหรือป้องกันอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอไล่เรียงปัญหาทั้งหมด

620912_Thairath_02_zpstb2hbh4f

ไมโครพลาสติก คือ อะไร...

ดร.ศิลาวุธ ดำรงศิริ นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบาย "ไมโครพลาสติก" ว่า คือ เศษพลาสติกขนาดเล็ก โดยเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรลงไป ที่มาของมันมี 2 แหล่ง หนึ่งคือ ถูกสร้างมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการทำพลาสติก บางอันก็เป็นรูปแบบผง เช่น เม็ดพลาสติกขัดหน้าในโฟมล้างหน้าที่เรียกว่า เม็ดสครับ แต่ปัจจุบันถูกแบนไม่ให้ใช้ไปแล้ว

แหล่งที่สองก็คือ พลาสติกทั่วไปที่เราทิ้งลงถังขยะ แม่น้ำลำคลอง และสุดท้ายก็พัดลงทะเล พลาสติกพวกนี้เมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะค่อยแตกเป็นชิ้นเล็กลงเรื่อยๆ สุดท้ายก็เป็นไมโครพลาสติก

ขณะที่ ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาเรื่องนี้ และพบไมโครพลาสติกในหอย ปลาที่อยู่บริเวณอ่าวไทย หรือแม้แต่ปะการัง เรียกว่าตอนนี้มีพลาสติกกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อพลาสติกแตกตัวก็จะกลายเป็นพลาสติกขนาดเล็ก เรียกว่า ?ไมโครพลาสติก? ซึ่งสัตว์ในท้องทะเลก็ได้กินเข้าไป

"ปัจจุบัน ปลาเกือบทุกชนิดกินไมโครพลาสติกเข้าไป เมื่อกินเข้าไปแล้วก็จะไปสะสมอยู่ในทางเดินอาหาร ลำไส้ เมื่อผ่าออกมาก็จะพบไมโครพลาสติกเหล่านี้แฝงเร้นอยู่ในเครื่องในของปลา และสัตว์อื่นๆ ในทะเล"

ล่าสุด พบ "ไมโครพลาสติก" ในปลาทู

ทั่วโลกตื่นตัว งานวิจัยมีน้อย มนุษย์กินสัตว์ "ไมโครพลาสติก" แฝงร่าง ผลคือ.. สิ่งที่เป็นข้อกังวลหากเรากินสัตว์ที่กินไมโครพลาสติกจะเกิดอะไรขึ้น ดร.นันทริกา ได้ทำความเข้าใจว่า ปัจจุบัน การศึกษาในเรื่องไมโครพลาสติกที่มีผลกับมนุษย์ก็ยังน้อยมาก แต่ก็มีค้นพบว่าถ้ามีขนาดเป็น "นาโนพลาสติก" อาจจะสามารถเข้าไปอยู่ในอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ พลาสติกเองก็ยังถือว่าเป็นโพลิเมอร์เฉื่อย (Inert Polymer) แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือเรื่องพิษจากสารเคมี ตัวทำละลาย ที่ใช้ในการทำพลาสติกผสมเข้าไป และสารที่เป็นมลพิษหรือเชื้อโรคสามารถเข้าไปเกาะตัวไมโครพลาสติกได้

นอกจากนี้ ยังมีรายงานเรื่องของผลกระทบต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ต้องกินในปริมาณเยอะในระยะยาว มันก็อาจจะทำให้เกิดการผิดปกติของพวกฮอร์โมนได้

"ตอนนี้ทั่วโลกได้ตื่นตัวเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมามีการศึกษาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม หรือในอาหาร เพราะนอกเหนือจากปลาแล้วยังศึกษาไปยังสัตว์บนดินที่มีการปนเปื้อนด้วย สิ่งที่นักวิจัยทั่วโลกเป็นห่วงคือ ขยะพิษเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น มะเร็ง ภูมิแพ้ หรือปัญหาการสร้างภูมิคุ้มกัน"

620912_Thairath_04_zpsakfo2yd9

ลักษณะรูปร่างของขยะไมโครพลาสติกที่พบเจอ ณ บริเวณพื้นที่ศึกษา แบบเส้นใยที่พบบริเวณชายหาดกะหลิม (ซ้ายบน) แบบแผ่นแข็งที่พบบริเวณชายหาดป่าตอง (ขวาบน) แบบไร้รูปร่างที่พบบริเวณชายหาดป่าตอง (ล่าง) (ภาพ : สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

1 ปี คนไทยกินไมโครพลาสติกไม่รู้ตัว เทียบเท่าบัตรเครดิต 1 ใบ

ด้าน นพ.ฆนัท ครุธกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอายุรศาสตร์ทั่วไป อายุรศาสตร์โรคหัวใจ และโภชนบำบัดและเมตาบอลิซึม เสริมว่า ที่น่ากังวลคือ "นาโนพลาสติก" เป็นพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่าประมาณ 100 ไมครอน ซึ่งอาจจะผ่านเข้าไปในผนังเซลล์ อาจทำอันตรายต่อเซลล์ของร่างกายได้ ปัจจุบันข้อมูลวิจัยยังไม่แน่ชัด การกำจัดนาโนพลาสติกออกจากร่างกายค่อนข้างยากกว่า เมื่อเทียบกับไมโครพลาสติก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลและทางการแพทย์ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

"ที่น่าตกใจคือ พบว่าคนไทยบริโภคสารปนเปื้อนพลาสติกในปริมาณไม่มากโดยไม่รู้ตัว คือ ประมาณ 5-6 กรัม เทียบเท่าบัตรเครดิตใบหนึ่งต่อปี ผ่านทางน้ำดื่ม น้ำประปา เสื้อผ้า ที่ปั่นซักก็มีเศษพลาสติกออกมาปนเปื้อน ในอาหาร อาหารทะเล หรือแม้แต่ยาสีฟันที่ผสมบีด เพราะบีดคือพลาสติกอย่างหนึ่ง พอใช้ก็อาจมีกระบวนการทำให้มีขนาดเล็ก และอาจปนเปื้อนกลืนเข้าไปในร่างกาย หากได้รับสารปนเปื้อนอื่นที่อยู่ในพลาสติกเกินปริมาณ ก็อาจจะมีผลต่อฮอร์โมน"นพ.ฆนัท กล่าว

620912_Thairath_03_zpss1ppeixu

หลีกเลี่ยง "ไมโครพลาสติก" ในอาหารทะเลอย่างไร

ดร.นันทริกา กล่าวอีกว่า สัตว์ทะเลแต่ละชนิดได้รับผลกระทบต่างกัน ที่เราเห็นเลยคือ เรื่องของการอุดตันของพลาสติกชิ้นใหญ่ในทางเดินอาหารของสัตว์ พวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล หรือเต่า พะยูน ซึ่งเป็น "แม็คโครพลาสติก" (พลาสติกขนาดใหญ่) จนกระทั่งที่ออกมาเป็นเศษเล็กๆ แล้วลงไปเป็นไมโครพลาสติก พวกนี้ก็จะไปสะสมหรือไปอยู่ในตัวของสัตว์ที่เล็กกว่า เช่น ปลาทู หรือปลาชนิดอื่นๆ ที่กินเข้าไป แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความเป็นห่วง คือ "การสะสม" เช่น เรากินปลามากกว่าหนึ่งตัว มันจะเข้าไปไหม

"หากเป็นปลาสด คนก็กินเนื้อปลาก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นลักษณะของการทำแห้งแล้ว มีอวัยวะภายในอยู่ครบ ก็สามารถที่จะรับสารเหล่านี้ไปได้เต็มๆ"

ดร.นันทริกา เน้นย้ำว่า ตอนนี้เราไม่ควรจะตื่นตระหนกเกินไป สิ่งที่ทำคือ การป้องกันไม่ให้แย่ไปกว่านี้ เพราะว่าตัวเลขต่างๆ มันก็จะเป็นตัวเลขจำเพาะที่ทำในแต่ละโปรเจกต์ ถ้ารัฐบาลสนใจเรื่องนี้จริง ก็น่าจะตั้งองค์กรที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แล้วก็หาทางที่จะบรรเทาเรื่องของปัญหา เพราะตอนนี้อยู่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมหมดแล้ว เราไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากที่จะเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองไม่ให้รับเข้าไปเยอะกว่านี้

หน้าที่ของรัฐบาล คือ การเดินหน้ารณรงค์ในเรื่องของการลดใช้และทิ้งขยะพลาสติก รักษาสิ่งแวดล้อม พยายามแก้ปัญหาเอาขยะพิษ ขยะพลาสติกขึ้นจากทะเล ที่สำคัญคือ การสร้างความปลอดภัยในเรื่องการกินอยู่ให้กับประชาชน โดยมีการออกมาตรการเป็นรูปธรรม

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ นับเป็นปัญหาระดับโลกที่มนุษย์ทุกคนพึงให้ความร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหา เพราะหากสิ่งแวดล้อมเลวร้ายเมื่อไหร่ สัตว์ในทะเล บนบก หรือบนฟ้า จะอยู่ไม่ได้ แล้วมนุษย์อย่างเราๆ จะอยู่อย่างไร

ที่มา:ไทยรัฐออนไลน์