Admin 9 ส.ค. 2562

กรมประมง นำเรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์ กลับคืนสู่ประเทศไทย หลังปฏิบัติภารกิจกระชับความสัมพันธ์สำรวจแหล่งทำประมงให้ "ติมอร์-เลสเต" ที่จังหวัดสมุทรปราการ

a1878f6cd068d086e5340af235e01d31

ที่ท่าเทียบเรือศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ กรมประมงนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชม "เรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์" กลับคืนสู่ประเทศไทย หลังออกไปปฏิบัติงานสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมน่านน้ำสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ภายใต้ความร่วมมือทางการประมงระหว่างประเทศไทย ติมอร์-เลสเต และ FAO โดยมีนายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง นำคณะเยี่ยมชมเรือ พร้อมด้วยนายคมน์ ศิลปาจารย์ เลขาธิการศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) นายมานพ หนูสอน ประมงจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูล

        นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า "เรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์" กลับเข้าฝั่งหลังได้มีการออกไปสำรวจทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลในน่านน้ำสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านวิชาการและเศรษฐกิจระหว่างไทยและติมอร์ฯ ว่า ขณะนี้ภารกิจดังกล่าวได้สำเร็จเสร็จสิ้นเรียบร้อยและทีมนักวิชาการ นักสำรวจและเจ้าหน้าที่เรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์ของกรมประมง ได้เดินทางกลับถึงประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมาโดยสวัสดิภาพ

สำหรับการเดินทางไปติมอร์ในครั้งนี้ เป็นการสำรวจในทะเลอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของติมอร์-เลสเต มีวัตถุประสงค์เพื่อไปหาแหล่งทำประมงสำรวจและประเมินทรัพยากรสัตว์น้ำ เนื่องจากทางประเทศติมอร์ต้องการจะพัฒนาธุรกิจการประมงในประเทศ แต่ยังไม่ทราบว่าแหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่อการทำประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะมีสถานภาพอย่างไร และยังขาดความรู้ทางวิชาการด้านประมง เพื่อนำมาบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงไม่ได้มีอุปกรณ์ และเครื่องมือในการสำรวจในเขตทะเลลึก จึงได้ขอความร่วมมือมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความรู้ด้านวิชาการและมีประสบการณ์การสำรวจประมงทะเลลึก

        นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือ MOU แบบทวิภาคีต่อกัน ด้วยเหตุนี้ เรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์ จึงได้เดินทางไปสำรวจวิจัยด้านทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมทางทะเลลึกในน่านของติมอร์-เลสเต ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 27 กรกฎาคม 2562 รวม 61 วัน เป็นการศึกษาองค์ประกอบชนิด ขนาด ความชุกชุม และการแพร่กระจายของสัตว์น้ำขนาดใหญ่เพื่อการบริโภค รวมถึงลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ ด้วยเครื่องมือประมงประเภทเบ็ดราวปลาผิวน้ำ เบ็ดราวหน้าดินแนวตั้ง ลอบปลา และอวนลากกลางน้ำสำหรับสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ใช้ถุงลากเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำวัยอ่อนและแพลงก์ตอน นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจสมุทรศาสตร์ มลพิษทางทะเลและความปลอดภัยทางอาหาร มีการศึกษาลักษณะทางกายภาพของน้ำทะเลตามระดับความลึกน้ำ เช่น ค่าความเค็ม อุณหภูมิ ค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ และยังได้ทำการเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณไมโครพลาสติกและโลหะหนัก รวมทั้งศึกษาปริมาณขยะทะเลและไมโครพลาสติกในน้ำทะเลด้วย

        โดยจากผลการสำรวจศึกษาทรัพยากรประมงเบื้องต้นในน่านน้ำติมอร์-เลสเต พบว่าทรัพยากรปลาผิวน้ำและกลางน้ำส่วนใหญ่ เป็นปลาในเขตทะเลลึก เช่น ปลาเขี้ยวกาง รองลงมา คือ ปลากระเบน ปลาสาก และปลาจะละเม็ดน้ำลึก เป็นต้น ส่วนสัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์น้ำขนาดเล็กพบมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ได้แก่ กลุ่มปลาไหล ปลาสีกุน ปลาหมึกกล้วยน้ำลึก นอกจากนี้ ทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าดิน ที่พบมาก ได้แก่ ปลากะพง ปลาฉลาม ปลาเก๋า ปลากด และหอยงวงช้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์น้ำหน้าดินขนาดใหญ่ และเป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ พบอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า Sahul Banks ทางด้านทิศใต้ของติมอร์

ดังนั้นการเดินทางไปตามภารกิจการสำรวจในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นความร่วมมือด้านวิชาการในการสำรวจทรัพยากรประมงให้กับประเทศติมอร์-เลสเตแล้ว อีกหนึ่งความมุ่งหมายสำคัญ คือ ประเทศติมอร์ฯ ต้องการที่จะพัฒนาอาชีพประมงในประเทศและเปิดสัมปทานใหม่ ๆ ให้แก่ต่างประเทศเข้าไปลงทุนในการทำประมง และธุรกิจต่อเนื่องทางการประมง ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการแสวงหาแหล่งทำประมงใหม่ และใช้เป็นแนวทางในการประกอบการพิจารณาการลงทุนด้านอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมห้องเย็น โรงน้ำแข็ง การแปรรูปสินค้าประมง ฯลฯ

609d278ee30735ad67971b39cfebc7d1

        ส่วนภารกิจต่อไปที่จะเกิดขึ้น ประเทศติมอร์-เลสเต จะส่งเจ้าหน้ามายังประเทศไทยในการมาร่วมทำการวิเคราะห์ข้อมูลทรัพยากรที่ไปสำรวจมาร่วมกับกรมประมง รวมถึงจะมีการจัดฝึกอบรมความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการทำประมงพาณิชย์อย่างถูกกฎหมายไม่เป็น IUU และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับเจ้าหน้าที่ของติมอร์ เพื่อนำความรู้ที่ได้กลับไปประยุกต์ใช้และพัฒนาการประมงที่ติมอร์ต่อไป อีกทั้ง ในปีหน้าจะมีการนำเรือไปสำรวจพื้นที่การทำประมงชายฝั่งให้กับประเทศติมอร์อีกด้วย ซึ่งความร่วมมือทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเตได้เป็นอย่างดี และแสดงถึงบทบาทการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยในปีนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะแสดงถึงความเป็นผู้นำด้านการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย ประเทศไทยยังเป็นผู้นำด้านความร่วมมือทางการสำรวจและวิจัยทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิกของอาเซียน ซึ่งแสดงถึงบทบาทการเป็นผู้นำด้านการประมงในผู้ภูมิภาคอาเซียนอย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีของกรมประมง ที่จะสร้างนักสำรวจทะเลลึกรุ่นใหม่มาทดแทนบุคลากรที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว จึงถือว่าการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ เป็นการช่วยพัฒนาบุคลากรที่มีหน้าที่ในการสำรวจแหล่งประมงทะเลลึกให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งเชื่อมั่นว่านักสำรวจรุ่นใหม่นี้จะช่วยเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาการประมงต่อไป ซึ่ง "เรือสำรวจประมงจุฬาภรณ์" เป็นเรือสำรวจประมงทะเลลึกของกรมประมง มีขนาดความยาว 67.25 เมตร ขนาดน้ำหนัก 1,424 ตันกรอส ระยะทำการประมง 12,000 ไมล์ทะเล ภารกิจที่ผ่านมาใช้ในการสำรวจแหล่งทำการประมงนอกน่านน้ำในหลายพื้นที่ เช่น ประเทศมัลดีฟส์ ศรีลังกา เซเชลส์ เมียนมา และในมหาสมุทรอินเดีย เป็นต้น

ที่มา:สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์