Admin 7 ส.ค. 2562

กรมเจ้าท่าคุมเข้มแผนกู้ซากเรือถ่านหินจมเกาะสีชัง จ.ชลบุรี

กรมเจ้าท่าคุมเข้มแผนการกู้ซากเรือถ่านหินกว่า 2,000 ตัน จมด้านเหนือเกาะสีชัง จ.ชลบุรี อย่างรัดกุม พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าตรวจสอบทุกขั้นตอน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทะเลและสิ่งแวดล้อม

562000007735601

           จากกรณีเรือบาร์จ จำนวน 2 ลำ บรรทุกถ่านหิน จำนวน 1,400 ตัน และจำนวน 900 ตัน ซึ่งเป็นเรือสังกัดของบริษัท พูลสวัสดิ์ จำกัด ส่วนเจ้าของสินค้าคือบริษัท จัมโบ้บาจส์ จอดเทียบด้านข้างและกำลังรับสินค้าเป็นถ่านหินจากเรือ Southampton โดยในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดมีพายุลมแรง ทำให้เรือบาร์จทั้ง 2 ลำ เกิดการกระแทกกันอย่างรุนแรง และจมลงบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชัง ในระดับความลึกของน้ำทะเล 15 เมตร ห่างจากเกาะสีชัง ประมาณ 5 กิโลเมตร เหตุเกิดเมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 31 ก.ค.62 ที่ผ่านมา
ล่าสุด วันนี้ (6 ส.ค.) นายพิทักษ์ วัฒนพงศ์พิศาล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล กรมเจ้าท่า ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เทศบาลตำบลเกาะสีชัง เจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขา จ.ชลบุรี ผู้ประกอบการเรือสินค้า และบริษัทเรือ ณ ห้องประชุม อาคารศูนย์ตรวจการณ์ชายฝั่งทะเล สำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
           นายพิทักษ์ กล่าวว่า ในวันนี้ทางบริษัทเอแซด อันเดอร์วอเตอร์ เวอค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นบริษัทกู้ซากเรือได้นำแผนในการกู้ซากเรือมาให้หน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกันตรวจสอบถึงขั้นตอนและแผนงานในการกู้ครั้งนี้ ซึ่งจะกู้เรือ 2 ลำ ที่จมขนาดบรรทุก 1,400 ตัน และ 900 ตัน โดยจากการสำรวจ พบว่า เรือขนาด 1,400 ตัน จมในลักษณะตะแคงเท่านั้น และถ่านหินทั้งหมดยังอยู่ภายในตัวเรือ ซึ่งการกู้จะใช้วิธีการตักถ่านหินใส่เรือที่เตรียมไว้ 

562000007735603

โดยจะมีม่านตาข่ายล้อมป้องกันไม่ให้ถ่านหินฟุ้งกระจาย ซึ่งในช่วงที่ตักถ่ายนำสู่เรือจะมีผ้าพลาสติกรองรับน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเสียใส่เรือลำเลียงต่อไปเพื่อไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล หลังจากที่ตักถ่านหินในเรือที่จมแล้ว เหลือประมาณ 30% ก็จะกู้ซากเรือให้ลอยสู่ผิวน้ำ พร้อมลากเรือลำดังกล่าวไปส่งขึ้นท่าเรืออำเภอนครหลวง จ.อยุธยา เพื่อดำเนินการต่อไป สำหรับเรือขนาด 900 ตัน ที่จมนั้นอยู่ในลักษณะตั้งตรง โดยการกู้จะใช้ในลักษณะเดียวกัน แต่จะเพิ่มเครื่องดูด (Air Vacuum) ตักถ่านหินที่จมอยู่ เพื่อบรรทุกไปกำจัดในสถานที่เดียวกัน และเมื่อดำเนินการเสร็จก็จะต้องสแกนพื้นที่รอบลำเรือในรัศมี 500 เมตร เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีถ่านหินหลงเรือจากการกู้ซากเรือในครั้งนี้
            นายพิทักษ์ กล่าวต่อไปว่า ในการกู้ซากเรือนั้นจะเริ่มในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ในการนำอุปกรณ์ต่างๆ มาในพื้นที่ จากนั้นจะดำเนินการกู้ซากเรือในทันที คาดว่าจะใช้เวลาในการกู้ประมาณ 3 เดือน เนื่องจากการกู้ในทะเลเป็นเรื่องที่ยากลำบากแต่ก็จะดำเนินการอย่างรัดกุม และในขั้นตอนการกู้นั้น ทางกรมเจ้าท่าจะส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมสังเกตการณ์ เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้อย่างรัดกุม

ที่มา:MGR ONLINE