Admin 23 ก.ค. 2562

"เพาะพันธุ์ปลาทู" ความหวังยังห่างไกล

1-1

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นายสรณัฏฐ์ ศิริสวย อาจารย์ประจำภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงความหวังในการเพาะพันธุ์ปลาทู เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคยังยาก สาเหตุหาพ่อแม่พันธุ์มีน้อย การวิจัยใช้เวลายาวนาน

นายสรณัฏฐ์ ศิริสวย อาจารย์ประจำภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า กรมประมงเริ่มศึกษา และเพาะพันธุ์ปลาทูสำเร็จแล้วในช่วงก่อนปี 2555 แต่ยังมีอุปสรรคในหลายด้านคือ พ่อแม่พันธุ์ปลาทูจากธรรมชาติหายาก เนื่องจากจำนวนปลาทูที่ลดลงในขณะนี้ รวมถึงโป๊ะปลา ใน จ.สมุทรสงคราม ที่หลายเจ้าได้เลิกกิจการไปแล้ว (ช่วงแรกของการศึกษาและเพาะพันธุ์มี 3 เจ้า ) เนื่องจากกรมประมงไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องมือโป๊ะและไม่อนุญาตให้มีการสร้างโป๊ะเพิ่มเติม เมื่อผู้ประกอบกิจการทยอยลดลงทำให้การออกหาพ่อแม่พันธุ์ปลาทู จึงยากไปด้วยเนื่องจากวิธีการจับปลาโดยโป๊ะจะทำให้ปลาอยู่ในสภาพที่ไม่ช้ำ และใช้เวลาไม่นานในการนำกลับมาสู่การเพาะเลี้ยง ปัจจุบันจึงถือว่าค่อนข้างยาก

พ่อแม่พันธุ์ปลาทูหายาก -โป๊ะถูกปิด "การเพาะพันธุ์ปลาทูในเชิงพาณิชย์อาจจะทำได้ในอนาคต ตอนนี้มีองค์ความรู้ขั้นต้นของการเพาะพันธุ์ แต่ยังต้องใช้เวลา และขั้นตอนอีกมากกว่าจะไปถึงขั้นเพาะพันธุ์เชิงพาณิชย์มันลำบากในการหาพ่อแม่พันธุ์ปลาทู เพราะปลาทูหายากขึ้น และโป๊ะปลา ก็ทยอยเลิกกิจการ การขึ้นเรือประมง ที่ใช้เวลานานกว่า 5-6 ชม.ในการกลับเข้าฝั่ง และนำปลาทูไปยังศูนย์เพาะพันธุ์อีกหลายชั่วโมงปลาที่รวบรวมมาก็จะช้ำ และอาจตายได้"

นายสรณัฏฐ์ กล่าวว่า ในการเพาะปลาชนิดใหม่ครั้งแรก ๆ จะได้ปลาได้ไม่เยอะ ต่ในครั้งที่ 2 ปลาจะเรียนรู้ที่จะอยู่ในที่กักขังมากขึ้น ก็จะเพาะพันธุ์ได้มากขึ้น การเพาะพันธุ์ครั้งนั้นใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี กว่าจะเพาะได้ลูกปลาทูระยะ 5 ปี สำหรับการเพาะพันธุ์ปลาชนิดใหม่ถือว่าเป็นระยะเริ่มต้น หากยกตัวอย่างปลานิลที่ใช้เวลากว่า 50 ปี จึงจะมีผลผลิตปีละกว่า 200,000 ตันในปัจจุบัน โดยนำเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่ปี 2509 ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ สำหรับปลาทูจึงเป็นขั้นเริ่มต้นเท่านั้น

ความหวังยังอีกไกล ใช้เวลา-งบประมาณ

1-4

นายสรณัฏฐ์ ศิริสวย อาจารย์ประจำภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ พบว่ากลุ่มชาวบ้านที่ทำบ้านปลาแจ้งว่ามีพ่อแม่ปลาทูเข้ามาอาศัยอยู่ ซึ่งได้ให้ข้อมูลทางกรมประมงเพื่อไปรวบรวมแล้วแต่ก็มีปริมาณไม่มาก หากเทียบกับโป๊ะปลาที่สามารถรวบรวมพ่อแม่ปลาทูได้ครั้งละ 100  200 ตัว แต่ด้วยความที่เป็นปลาในบ้านปลาจึงเหลือเพียง 2-3 ตัวเท่านั้น ซึ่งธรรมชาติของปลาทูเป็นปลาฝูงจึงจำเป็นต้องมีปริมาณปลาที่มากเพียงพอจึงทำให้การศึกษาวิจัยเพาะพันุธุ์ปลาทูหยุดชะงักลง และต้องรอให้ปริมาณปลาทูฟื้นเพิ่มขึ้นมาก่อน

ดังนั้น การเริ่มกลับมาเพาะพันธุ์ เนื่องจากปลาทูจำนวนลดลง การใช้งบประมาณการทำวิจัยจึงค่อนข้างสูงการออกเรือเพื่อไปจับพ่อแม่พันธุ์ปลาทูก็จับได้ยาก บางครั้งก็อาจจะไม่ได้พ่อแม่พันธุ์ปลาทูกลับมา จึงอาจต้องรอให้ธรรมชาติฟื้นตัวก่อนจึงจะกลับมาดำเนินการศึกษาวิจัยต่อได้โอกาสที่ปลาทูจะสูญพันธุ์ อาจจะไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากด้วยธรรมชาติที่เมื่อปริมาณปลาทูลดลงโอกาสจับก็จะลดลง อาหารของปลาทูก็จะมีปลาชนิดอื่นมากินและมีปริมาณมากทำให้ถูกจับมากขึ้น ขณะที่ปลาทูก็จะค่อยๆ เพิ่มปริมาณ และปลาทูจะวางไข่และเติบโตตามวงจรของธรรมชาติที่จะค่อยๆฟื้นกลับคืนมา และเชื่อว่าจะไม่ถึงขนาดสูญพันธุ์

ที่มา:ThaiPBS