Admin 19 ก.ค. 2562

ทช.ชี้พะยูน 5 ตัวตายทะเลกระบี่-ตรัง เจอรอยเครื่องมือประมง

ผลการทำแบบจำลองทางอุทกศาสตร์ ยืนยันพะยูนทั้ง 5 ตัวตายในพื้นที่ห่างจากรัศมีที่เกยตื้นตายเพียง 200 เมตรถึง 1 กิโลเมตร

ชี้ตายก่อนถูกตัดเขี้ยว และมีรอยแผลที่บ่งชี้มาจากเครื่องมือประมง เร่งทำความเข้าใจและแก้ปัญหา เพื่อลดการสูญเสีย

2-1

18 ก.ค.62 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงกรณีพะยูนตาย 5 ตัว ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ในพื้นที่ จ.กระบี่ และ จ.ตรัง และพบถูกตัดเขี้ยว 2 ตัว ว่า การชันสูตรยืนยันว่า พะยูนไม่ได้ถูกตัดเขี้ยวก่อนที่จะตาย ส่วนสาเหตุการตายนั้น สัตวแพทย์ระบุว่า ตายอย่างเฉียบพลัน แต่ไม่ได้หมายถึงพะยูนป่วยตายเอง เนื่องจากพบร่องรอยบาดแผลที่บ่งชี้ว่ามาจากเครื่องมือประมง

แม้สาเหตุการตายจะไม่ใช่การถูกล่า แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ยังมีการใช้เครื่องมือประมงที่เสี่ยงอันตรายกับพะยูนและสัตว์ทะเลอื่น ๆ ซึ่ง ทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำแบบจำลองทางอุทกศาสตร์ 3 มิติ มาประเมินช่วงเวลา กระแสน้ำ และจุดที่พบพะยูนตายทั้ง 5 ตัว พบว่าพะยูนมีรัศมีการตายอยู่ที่ระยะทาง 200 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร ส่วนใหญ่มักจะพบซากหลังการตายแล้ว 2-3 วัน

2-2

ข้อมูลนี้ยืนยันว่าพะยูนตายในพื้นที่ จ.กระบี่ และตรัง ไม่ได้ลอยมาจากที่อื่น และร่องรอยบาดแผล เช่น รอยเชือกรัด บ่งชี้ว่าตายจากเครื่องมือประมงที่อยู่ในพื้นที่ แม้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่ควรต้องบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว เพื่อลดความสูญเสียพะยูนที่เหลืออยู่

"ทช. ไม่ได้ตั้งเป้าหมายให้เลิกใช้เครื่องมือประมงในทะเลทั้งหมด แต่ต้องขอความร่วมทำประมงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพะยูน"

ส่วนกรณีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงพื้นที่เกาะลิบง เพื่อหารือแผนดูแลมาเรียม ที่ขณะนี้อยู่ในโครงการพระราชดำรินั้น ต้องดูแลร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทช. กรมอุทยานฯ ทหารเรือ อส. และกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่

โดยวันนี้จะเสนอแผนย้ายมาเรียมไปอยู่ในจุดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากมรสุม ช่วง 2 เดือน รวมทั้งหารือแผนรองรับพะยูนยามีล ซึ่งอยู่ในศูนย์อนุบาลภูเก็ต หากร่างกายแข็งแรงขึ้น คาดว่าไม่เกินสิ้นปีนี้ อาจจะย้ายมาอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ เช่นเดียวกับพะยูนมาเรียม เพื่อปรับตัวให้อยู่ในธรรมชาติได้

2-3

ทำแผนอนุรักษ์พะยูนระยะยาว

ก่อนหน้านี้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงพื้นที่หารือร่วมกับทางจังหวัดกระบี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสถานการณ์พะยูนว่า มีประชากรพะยูน 200-250 ตัว โดยพะยูนเป็นสัตว์สงวนตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พะยูนทั้งประเทศพบที่ จ.ตรัง 70% จากการสำรวจการเกยตื้นของพะยูนในช่วงต้นปี 2562 พบการเกยตื้นตาย 5 ตัว และมีลูกพะยูนเกยตื้น 2 ตัว คือมาเรียม และยามีล ซึ่งทช.ได้รับไปอนุบาลดูแลเพื่อเตรียมปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ โดยการเกยตื้นเกิดจากภัยคุกคามทางด้านการประมง 89% ป่วยตาย 10% และอื่นๆ 1%

2-4

ทั้งนี้ทช.จัดเตรียมทำแผนและกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา?การเกยตื้นของพะยูน แบ่งออกเป็น มาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว อีกทั้งสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนและชาวประมงในพื้นที่ ให้เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงช่วยกันดูแล ปกป้อง และทำประมงอย่างถูกกฎหมาย พร้อมกับจัดตั้งศูยน์เฝ้าระวังทั้ง 4 จุดในการดูแลพะยูน

"มาตรการระยะยาวควบคุมปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่อันตรายต่อพะยูน ประกาศพื้นที่คุ้มครองพะยูน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน"

นอกจากนี้ ในอนาคต ทช.จะร่วมมือกับกองทัพเรือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานทุกภาคส่วนในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อสนับสนุนกองกำลังพล อุปกรณ์ เรือลาดตระเวน และเฮลิคอปเตอร์ เพื่อใช้ปฏิบัติงาน ในการปกป้อง ดูแลทรัพยากรพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก

ที่มา:ไทยพีบีเอส