Admin 17 พ.ค. 2562

ปลาทะเลน้ำลึกสามารถมองเห็นสีในความมืด

2-1

เมื่อเร็วๆนี้ชีววิทยาวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ในกรุงปราก แห่งสาธารณรัฐเช็ก ได้รายงานลงในวารสารวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการวิจัยปลาทะเลน้ำลึกบางชนิด ที่อาจมองเห็น สีคมชัดในความมืดมิดใต้ท้องทะเล เพื่อสามารถเจริญเติบโตได้ในความมืดที่มีสภาพแวดล้อมรุนแรง เนื่องมาจากการดัดแปลงทางพันธุกรรมที่ไม่เหมือนกับสัตว์อื่น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดหรือจีโนม (gnome) ของปลาจำนวน 101 ชนิด พบว่าปลาทะเล 3 ตระกูล ที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกประมาณ 1,500 เมตร มีระบบการมองเห็น ที่พิเศษสามารถมองเห็นสีในความมืดสนิท ทั้งนี้ ปลาจัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ซึ่งสัตว์ประเภทนี้จะใช้เซลล์รับแสง 2 ตัวที่อยู่ในจอประสาทตาสำหรับการมองเห็น เซลล์ที่มีคุณสมบัติไวแสงนี้คือเซลล์รูปแท่ง (rods cell) จะรับแสงได้ดี มองเห็นที่ที่มีแสงน้อย และเซลล์รูปกรวย (cone cell) ที่จะไวต่อแสงและสีต่างกัน คือไวต่อสีเขียว แดง น้ำเงิน

นักวิจัยเผยว่า ปลา 13 สายพันธุ์จาก 3 ตระกูลปลาทะเลน้ำลึก มีการขยายจำนวนยีนควบคุมสารโรดอฟซิน (rhodopsin) เป็นสารสีม่วงพบที่เซลล์รูปแท่งไวแสงในเรตินา เพื่อช่วยให้มองเห็นในที่มืดได้ และการมองเห็นแบบฉับพลันนั้นเป็นประโยชน์กับปลาเหล่านี้อย่างมาก ในช่วงการหาอาหารและผสมพันธุ์ ทำให้หลีกเลี่ยงการกลายเป็นอาหารนักล่าชนิดอื่นในพื้นที่มืดๆ ที่ความลึกของมหาสมุทร ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยที่ใหญ่ที่สุดของโลก.

ที่มา:ไทยรัฐ