Admin 14 พ.ค. 2562

SCG ดันขยายพันธุ์ "หญ้าทะเล" "เกาะลิบง" ลดโลกร้อน

2-1

เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดให้มีการประชุมที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง เพื่อระดมความคิดเห็น โดยมีเจ้าหน้าที่จากบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด หน่วยงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง เข้าร่วมประชุม

ที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น "โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ" ตามมาตรฐานของประเทศไทย ด้วยวิธีการปลูกและอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลของตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ด้วยเหตุผลที่ว่า พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลสามารถเพิ่มพูนการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียวถึง 5 เท่า

ประกอบกับทาง SCG ให้ความสนใจในการส่งเสริมเพิ่มพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลของตำบลเกาะลิบงเพื่อลดภาวะโลกร้อน (global warming) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย

โดยนายลือพงษ์ อ๋องเจริญ กรรมการผู้จัดการ (MD) บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เล่าให้ฟังว่า หญ้าทะเลเป็นพืชดอกใบเลี้ยงเดี่ยวที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใต้น้ำบริเวณชายฝั่งที่มีการผันแปรของความเค็มได้เป็นอย่างดี โดยธรรมชาติหญ้าทะเลจะขึ้นบริเวณแนวชายฝั่งในระดับน้ำลึกไม่เกิน 10 เมตร ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 4-7 เมตร ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สัตว์ทะเลประเภทต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมไปถึงประเภทที่หายากใกล้สูญพันธุ์ ใช้เป็นที่พักพิง ทั้งเป็นแหล่งอาหาร และบ้านของสัตว์ทะเลวัยอ่อน

หญ้าทะเลขยายพันธุ์ทั้งแบบใช้เม็ดและแตกกิ่งก้าน หรือยอดใหม่จากเหง้า ในประเทศไทยพบหญ้าทะเลรวม 13 ชนิด หญ้าทะเลแปลงใหญ่อยู่ที่จังหวัดตรัง อำเภอสิเกา พบหญ้าทะเลที่บ้านแหลมไทร บ้านปากคลอง และเกาะผี, อำเภอปะเหลียน พบหญ้าทะเลที่เกาะสุกร, อำเภอกันตัง พบหญ้าทะเลที่เกาะลิบง เกาะมุก และบ้านเจ้าไหม โดยแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรังและของประเทศไทย อยู่ที่ "เกาะลิบง" จังหวัดตรัง มีแหล่งหญ้าทะเลประมาณ 12,170 ไร่ หญ้าทะเลที่พบในจังหวัดตรังมีถึง 11 ชนิด

นอกจากนี้เศษซากของหญ้าทะเลเมื่อเกิดการเน่าสลายจะกลายเป็นผลผลิตเบื้องต้นของระบบนิเวศชายฝั่ง ตามพื้นดินเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหนอนตัวกลม หอยสองฝา หอยชักตีน ไส้เดือนทะเล ปลิงทะเล และสัตว์น้ำวัยอ่อนใบและลำต้นของหญ้าทะเลเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรีย หนอนตัวแบน ทากเปลือย เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศชายฝั่ง รวมถึงหญ้าทะเลยังเป็นอาหารหลักของพะยูนและเต่าทะเล ปัจจุบันพบพะยูนที่เกาะลิบง ประมาณ 170 ตัว พะยูนแต่ละตัว กินหญ้าทะเลวันละ 30 กิโลกรัม ช่วยลดความเร็วกระแสน้ำ ลดความแรงของคลื่นลม ช่วยยึดผิวหน้าดิน ป้องกันการพังทลายของชายฝั่งได้

2-2

กระบวนการสังเคราะห์แสงของหญ้าทะเลในเวลากลางวันให้ออกซิเจนแก่สัตว์น้ำ และหญ้าทะเลช่วยลดภาวะโลกร้อน สามารถเพิ่มพูนการกักเก็บ ก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียวถึง 5 เท่าเพราะหญ้าทะเลใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในรูปไบคาร์บอเนตไอออน ในกระบวนการสังเคราะห์แสง แล้วเก็บไว้ในราก เหง้า และใบ เมื่อหญ้าทะเลตายเกิดการย่อยสลายทับถมในตะกอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตะกอนอินทรีย์ ที่อยู่ในภาวะไร้ออกซิเจน อัตราการย่อยสลายตัวต่ำ จึงสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้

ขณะที่เปลือกของหอยมีการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ตลอดช่วงเวลาที่เจริญเติบโต ป่าไม้ตามแนวชายฝั่งช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้เร็วกว่าป่าไม้ทั่วไปถึง 4 เท่า การที่คาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกระบบนิเวศชายฝั่งและมหาสมุทรกักเก็บเอาไว้เรียกว่า blue carbon(บลูคาร์บอน) ทั้งนี้ระบบนิเวศชายฝั่งช่วยให้คาร์บอนตกตะกอนในมหาสมุทรได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณคาร์บอนที่หญ้าทะเลสามารถกักเก็บไว้ในชั้นดินถึง 95 เปอร์เซ็นต์

"ความลึกของมวลชีวภาพของระบบนิเวศชายฝั่ง ที่กักเก็บคาร์บอนถึง 6 เมตร ดังนั้น การลดลงของป่าชายเลน ส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น กล่าวโดยสรุประบบนิเวศชายฝั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบนิเวศหญ้าทะเล นอกจากเพิ่มพูนกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้มากกว่าพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียวได้ถึง 5 เท่าแล้ว ระบบนิเวศหญ้าทะเลยังมีความสำคัญมากต่อปริมาณสัตว์น้ำ และความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล เป็นแหล่งอนุบาล แหล่งวางไข่ แหล่งหากิน แหล่งหลบภัย และเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน เนื่องจากโครงสร้างของหญ้าทะเลมีใบ ลำต้น และรากที่สลับซับซ้อน จากการสำรวจพบว่าสัตว์น้ำเศรษฐกิจหลายชนิดมีช่วงชีวิตที่ผูกพันกับแหล่งหญ้าทะเล เช่น กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย ปลาเก๋า เป็นต้น"

"ผมอยากชักชวนภาคเอกชนไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานฟอสซิล อย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทอื่นที่มีนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCG ได้เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission : T-VER) ในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยบริษัทภาคเอกชนสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโครงการที่เรียกว่า คาร์บอนเครดิต (T-VER) ไปขายคืนให้ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ" นายลือพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา:ประชาชาติ