Admin 3 พ.ค. 2562

ร่วมพลิกโฉมเกาะลิบง ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สู่ความพร้อมปกป้อง 'พะยูน' ที่ยั่งยืน

จังหวัดตรังถือได้ว่าเป็นเสมือนเมืองหลวงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใต้น้ำที่หายากอย่าง พะยูน

ด้วยในแง่ของจำนวนประชากรที่พบ รวมไปถึงความเหนียวแน่นผูกพันที่ผสานรวมกันกับวัฒนธรรมท้องถิ่นมานาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเกาะลิบง เกาะขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนใต้ของจังหวัด

ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อสำหรับใครก็ตามที่ต้องการมาเยี่ยมชมสัตว์ทะเลหายากชนิดนี้

2-1

นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฉายภาพสถานการณ์ที่ผ่านมาว่า จากการสำรวจในช่วงปี 2554 พบพะยูนในทะเลตรังประมาณ 120 ตัว โดยมีอัตราการตายที่สูงประมาณปีละ 10 ตัว ขณะที่ปีถัดมาก็เริ่มมีอัตราการตายเพิ่มขึ้นเป็น 11-12 ตัว ซึ่งอัตราการตายที่สูงกว่าการเกิดเช่นนี้ คือความเสี่ยงที่อาจทำให้สัตว์สูญพันธุ์ได้

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้เกิดความพยายามในการหาสาเหตุการตายของพะยูน จนได้ทราบว่าภัยคุกคามหลักของพะยูนนั้นแท้จริงแล้วมาจากเครื่องมือประมงของชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอวนประมง ที่มักจะทำให้ตัวพะยูนเข้าไปติดพันจนไม่สามารถลอยขึ้นมาหายใจได้และจมน้ำตายในที่สุด ซึ่งไม่เฉพาะกับพะยูนเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายกับสัตว์ทะเลหายากอย่างเต่าทะเลหรือโลมาอีกด้วย

2-2

ด้วยเหตุนั้นจึงทำให้ในภายหลังได้มีการสร้างเครือข่ายรอบพื้นที่ เพื่อรณรงค์ในการกั้นเขตแนวหญ้าทะเล พร้อมสร้างกติกาชุมชนไม่ให้มีการวางเครื่องมือประมงทุกชนิดที่เป็นอันตรายกับสัตว์ทะเลหายาก แม้ระยะแรกจะมีผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมืออยู่บ้าง แต่เมื่อมีการยึดอวนและเรียกตัวเข้ามาตักเตือนมากขึ้น ระยะหลังจึงมีการวางอวนน้อยลงมาก จนพะยูนมีการตายน้อยลง และมีอัตราการเกิดที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกปี

จนการสำรวจในปี 2561 จึงพบว่าจำนวนประชากรพะยูนมีมากกว่า 210 ตัว พร้อมอัตราการตายปีละไม่เกิน 5 ตัว ซึ่งในอัตรานี้จะทำให้พะยูนรอดพ้นจากการสูญพันธุ์ เพราะมีอัตราการเกิดที่สูงกว่า นั่นทำให้ได้รู้ว่าการอนุรักษ์นั้นเดินมาถูกทาง

นำมาสู่แผนงานล่าสุดที่หัวหน้าเขตฯ รายนี้เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้มีการเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อวางกติกาชุมชนในการดูแลและอนุรักษ์พะยูนร่วมกัน โดยจะมีโครงการวางทุ่นแนวเขตอนุรักษ์หลัก คือบริเวณแนวหญ้าทะเลที่ห้ามไม่ให้เครื่องมือประมงทุกชนิดเข้า ขณะที่มีแนวเขตอนุรักษ์รองลงมา อนุญาตให้เครื่องมือขนาดเล็กที่ชาวบ้านใช้หากินตามปกติเข้าไปได้ ซึ่งในที่สุดจะเป็นแหล่งวิจัยด้วยว่าการฟื้นตัวของสัตว์และหญ้าทะเลในพื้นที่นี้จะดีเพียงใดหากไร้การรบกวน

นอกจากนี้อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการชมพะยูนของนักท่องเที่ยว ซึ่งในอดีตมักมีข่าวการนำเรือเข้าไปไล่ล้อมเพื่อดูสัตว์ แต่กติกาหลังจากนี้จะไม่สามารถแล่นเข้าไปดูพะยูนในบริเวณทุ่นแนวล้อมได้ และในอนาคตเมื่อมีการปรับปรุงหอชมพะยูนแล้ว ก็จะไม่มีการลงเรือไปดูพะยูนอีกต่อไป

"การจัดการที่ยั่งยืนจริงๆ คือต้องดูพะยูนจากที่สูงอย่างเดียว คือบนเขาบาตูปูเต๊ะซึ่งเป็นจุดดูพะยูนที่ดีที่สุด ซึ่งเรากำลังทำโครงการร่วมกับท้องถิ่นเพื่อปรับปรุงหอดูพะยูนให้เป็นไปตามมาตรฐาน เมื่อทำเสร็จเราจะไม่อนุญาตให้มีการลงเรือไปตามดูพะยูนอีก โดยสามารถที่จะดูพะยูนจากบนหอได้ด้วยสายตาเปล่าหรือใช้กล้องส่องก็ได้ ซึ่งวิธีนี้ยังจะเป็นการกระจายรายได้ที่ดี โดยมีชาวบ้านยอมรับร่วมกันเป็นกติกาชุมชน" ชัยพฤกษ์ ระบุ

อีกหนึ่งภาคส่วนที่สำคัญในความพยายามของการอนุรักษ์ฟื้นฟู เกิดจากฟากฝั่งความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน เครือข่ายจิตอาสา และเอสซีจี ที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้จากภูผาสู่มหานที ในจังหวัดตรังมานับตั้งแต่ปี 2559 โดยได้มีการปลูกหญ้าทะเลไปแล้วกว่า 14,000 ต้น และปลูกป่าชายเลนไปแล้วกว่า 1,400 ต้น ร่วมกับการวางบ้านปลาจำนวนรวม 320 หลัง

โดยล่าสุดในเดือนเมษายน 2562 ทางเครือข่ายฯ และเอสซีจียังได้มีการจัดกิจกรรม "เฉลิมราชย์ราชา จิตอาสารักษ์น้ำ" เนื่องในมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชภิเษก ตามพระราชประเพณี ในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 ด้วยการปลูกหญ้าทะเลเพิ่มอีก 2,000 ต้น ปลูกป่าโกงกาง 300 ต้น พร้อมกับวางบ้านปลาอีกจำนวน 20 หลัง ที่ชุมชนบ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

2-3

สำหรับพื้นที่ชุมชนบ้านมดตะนอยแห่งนี้ แม้จะมีพื้นที่หญ้าทะเลอยู่หลายจุดบริเวณชายฝั่งทะเลโดยรอบ แต่ที่ผ่านมาก็มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ชุมชนต้องการขยายพื้นที่การปลูกให้มากขึ้น แต่ติดข้อจำกัดของจำนวนหญ้าทะเลที่มี และการต้องขอต้นหญ้าทะเลจากพื้นที่อื่นมาปลูก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่เอสซีจีได้เข้ามาร่วมกับชุมชนในกระบวนการศึกษาดูงาน พร้อมกับนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ จนชุมชนสามารถสร้างเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หญ้าทะเล ด้วยการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์เอง รวมถึงสร้างกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชนตั้งแต่การเก็บพันธุ์หญ้าทะเล ทดลองปลูกในศูนย์เพาะพันธุ์ จนปัจจุบันได้เพาะพันธุ์หญ้าทะเลไว้กว่า 1,000 ต้น และมีอัตราการรอดตายระหว่างเพาะพันธุ์ 80%

ขณะเดียวกันชุมชนแห่งนี้ยังได้ทำความตกลงยกเลิกการประกอบอาชีพทำถ่าน เปลี่ยนมาเป็นการปลูกไม้โกงกางด้วยวิธีง่ายๆ คือเห็นลูกไม้จุดใดก็นำไปปลูกต่อในจุดนั้นเพื่อขยายพื้นที่ จนปัจจุบันมีป่าโกงกางรอบบ้านมดตะนอยประมาณ 3,000 ไร่ และตั้งเป็นกติกาชุมชนว่าสามารถนำไม้โกางกางไปใช้สอยในครัวเรือนได้ แต่ไม่สามารถนำไปขายได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการชุมชน

ผลจากการปลูกป่าโกงกางที่ผ่านมา ทำให้พบว่ามีกุ้ง หอย ปู ปลา เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากป่าโกงกางเป็นต้นกำเนิดของสัตว์ทะเล โดยชุมชนพบเห็นกุ้งเคย และปลิงทะเล ที่ไม่ได้พบมาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งยังพบว่าป่าโกงกางช่วยดูดซับลมร้อน ซึ่งเป็นผลเชิงประจักษ์ว่าป่าโกงกางช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ จนนำไปสู่การร่วมกันเพาะพันธุ์ไม้โกงกางขึ้นในชุมชน เพื่อให้มีต้นกล้าไม้ไปปลูกในพื้นที่รอบๆ ได้มากยิ่งขึ้น

เมื่อสัตว์ทะเลเพิ่มมากขึ้นจากการมีแหล่งเพาะพันธุ์และวางไข่ ในบริเวณหญ้าทะเลและป่าโกงกางรอบหมู่บ้าน ชุมชนบ้านมดตะนอยจึงคิดต่อยอดไปถึงการสร้างแหล่งหลบภัยและอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กเพิ่มเติม ในเส้นทางน้ำที่จะออกสู่ทะเล นั่นคือคลองบ้านมดตะนอย และคลองลัดเจ้าไหม จึงมีการจัดทำบ้านปลาจากก้านมะพร้าว หรือซั้งกอ ขึ้นเป็นแหล่งให้สัตว์น้ำขนาดเล็กหลบพักอาศัย แต่ด้วยวัสดุที่ไม่คงทน ทำให้ชุมชนได้หาวัสดุอื่นๆ มาทำบ้านปลาอีกหลายชนิด แต่ก็ไม่ตรงกับตามความต้องการ

[caption id="attachment_11265" align="aligncenter" width="700"]DCIM101MEDIADJI_0036.JPG DCIM101MEDIADJI_0036.JPG[/caption]

ต่อมาหลังเอสซีจีได้เข้ามาพูดคุยกับชุมชนถึงการดูแลอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล จึงได้มีการจัดหารูปแบบบ้านปลาที่ตรงตามความต้องการและลงมือทดลองทำ เกิดเป็นบ้านปลาที่ใช้นวัตกรรมปูนคนใต้ ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน ทนซัลเฟตและคลอไรด์จากน้ำทะเล มีอายุการใช้งานยาวนาน และไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมแม้อยู่ใต้ท้องทะเล ซึ่งเมื่อวางไปได้ประมาณ 3 เดือนจะมีเพรียงและสัตว์น้ำขนาดเล็กมาเกาะยึด ทำให้ปลาหลายชนิดเข้ามาหลบพักอาศัย ช่วยเพิ่มพื้นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล และส่งผลดีต่ออาชีพประมง

ไม่เพียงความพยายามในการฟื้นฟูพื้นที่ใต้น้ำเท่านั้น แต่ในส่วนของบนบกเองชุมชนบ้านมดตะนอยก็มีความพยายามแก้ไขปัญหาขยะเรื่อยมา จากที่เคยมีกองขยะสะสมที่ลอยมาติดบริเวณชายฝั่งด้านต่างๆ จำนวนมาก จนเริ่มกำหนดให้มีการทำความสะอาดบ้านตัวเอง และร่วมกันทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะเป็นประจำ เมื่อหมู่บ้านเริ่มสะอาดมากขึ้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่ขยายผลไปทั้งหมู่บ้าน

ในปี 2558 ชุมชนได้มีการคัดแยกขยะ โดยแยกไว้ขายรวมถึงรีไซเคิลในรูปแบบต่างๆ เช่น นำเศษอาหาร มาเป็นน้ำหมักชีวภาพ หรือล้อยางรถยนต์เก่า มาเป็นกระถางปลูกพืชผักสวนครัว ทำให้เกิดการส่งเสริมพืชผักสวนครัวเพิ่มเติมขึ้นในชุมชน และในปี 2559 ชุมชนก็ได้ประกาศเป็นหมู่บ้านปราศจากโฟม จนได้รับรองจากกรมอนามัย และในปี 2561 เอสซีจียังได้เข้ามาเพิ่มความรู้ด้านการจัดการขยะแบบองค์รวม และรณรงค์ใช้ถุงผ้าแทนพลาสติก นำมาสู่การจัดการขยะอย่างบูรณาการ เกิดการขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการทำดีได้ดาว เมื่อนำภาชนะมาใส่อาหารและเครื่องดื่ม การจัดการหลอดพลาสติก โดยนำมารีไซเคิลใส่เป็นหมอนให้ผู้สูงอายุ รวมทั้งการจัดการขยะในครัวเรือน โดยนำมาประดิษฐ์เป็นภาชนะต่างๆ และนำไปขาย เป็นต้น

แม้จุดเริ่มต้นของหลายโครงการจะไม่ได้เป็นเป้าประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูพะยูนอย่างเฉพาะเจาะจง บางโครงการเป็นไปเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน แก้ไขปัญหาการเกิดภัยแล้งทั่วประเทศ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลลัพธ์จากการฟื้นฟูทั้งหมด ในที่สุดจะส่งผลสะท้อนกลับเข้าสู่วงจรของระบบนิเวศที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ทำให้บ้านหลังขนาดใหญ่ของพะยูนแห่งนี้ กลายเป็นที่ปลอดภัยและอยู่อาศัยรอให้เราพบเห็นได้อีกนานแสนนาน

ที่มา:กรีนนิวส์