Admin 26 เม.ย. 2562

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กำหนด 6 มาตรการชม “พะยูน” สัตว์อนุรักษ์ชื่อดัง

หน.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง เรียกประชุมหลายฝ่าย กำหนด 6 มาตรการชม “พะยูน” สัตว์อนุรักษ์ชื่อดัง หลังพบมีการนำเรือเข้าไปไล่ต้อน พร้อมเสนอให้ขึ้นไปชมบน “เขาบาตูปูเต๊ะ” แทนในอนาคต

562000004155201

วันนี้ (25 เม.ย.) ที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ได้เรียกประชุมผู้นำชุมชน ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน ชาวเรือประมงที่นำนักท่องเที่ยวนั่งเรือชมพะยูน และกลุ่มพิทักษ์ดุหยง (พะยูน) เพื่อหารือกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาการนำนักท่องเที่ยวนั่งเรือไล่ต้อนชมพะยูนในบริเวณทะเลพื้นที่เกาะลิบง โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง หัวหน้าอุทยานฯ หาดเจ้าไหม มูลนิธิอันดามัน กรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคี และตัวแทนชาวบ้านกลุ่มต่างๆ

562000004155202

ทั้งนี้ ในที่ประชุมผู้แทนจากศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 ได้นำเสนอสถานการณ์หญ้าทะเลใน จ.ตรัง ว่า เนื่องจากพะยูนจะกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร และจะมีการสำรวจความสมบูรณ์ปีละ 2 ครั้ง คือ ก่อนช่วงฤดูมรสุม และหลังช่วงฤดูมรสุม ซึ่งมีทั้งหมด 8 แปลง เนื้อที่ประมาณ 20,038 ไร่ รอบๆ พื้นที่เกาะลิบง และพบหญ้าทะเลทั้งหมด จำนวน 9 ชนิด ซึ่งผลจากการสำรวจอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี พบว่า ไม่มีบริเวณไหนที่มีการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล โดยเฉพาะล่าสุด สำรวจเมื่อมกราคม 2561 และมิถุนายน 2561 พบว่า ทุกแปลงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี ทั้งนี้ มีจำนวน 4 แปลง ที่พบร่องรอยพะยูนจำนวนมาก เพราะมีชนิดหญ้าทะเลที่พะยูนกินเป็นอาหาร ซึ่งจะต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ บริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ อ่าวทุ่งจีน หลังหาดตูบ และหาดตูบ

ส่วนที่มีการนำเสนอข่าวออกไปว่า หญ้าทะเลในจังหวัดตายเข้าขั้นวิกฤตนั้นไม่เป็นความจริง แต่การตายของหญ้าทะเลมีความสัมพันธ์กับฤดูกาล หรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในช่วงหน้าแล้ง และเมื่อฤดูมรสุมมาถึงหญ้าทั้งหมดก็จะฟื้นตัวเองเป็นไปตามภาวะปกติ ส่วนพะยูนในทะเลตรังมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลจากการที่ทั้งภาคราชการ และประชาชนในพื้นที่ร่วมกันดูแล โดยในปี 2556 มีอยู่ราว 134 ตัว และผลการสำรวจล่าสุดพบว่ามีมากกว่า 180 ตัว

562000004155204

ทั้งนี้ ผลการประชุมหารือกำหนดแนวทางการนำนักท่องเที่ยวชมพะยูนในทะเลตรัง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์การนำเรือไล่ต้อนพะยูนให้อยู่ในวงเพื่อให้นักท่องเที่ยวชม เพราะเป็นการรบกวนการกินหญ้าทะเลของพะยูนมากเกินไป จนเกรงจะเป็นอันตราย และเป็นเหตุให้พะยูนย้ายถิ่นฐานหนีได้ โดยสรุปแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้

1.เรือท่องเที่ยวชมพะยูนจะต้องขึ้นทะเบียนทุกลำ

2.มีการวางทุ่นกำหนดพื้นที่โซนนิ่งในการอนุรักษ์พะยูน และแหล่งหญ้าทะเลไม่ให้มีการรบกวน เช่น บริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ อ่าวทุ่งจีน หาดตูบ แหลมจูโหย และปากหลาม ซึ่งมีพะยูนจำนวนมาก

3.ห้ามเครื่องมือผิดกฎหมาย และเครื่องมือที่เป็นอันตรายต่อพะยูนเข้าไปในเขตพื้นที่โซนนิ่ง

4.ทำเขตอภัยทานบริเวณหน้าแหลมจุโหย-คลองบิหลัง เนื้อที่ประมาณ 20 กว่าไร่

5.เรือท่องเที่ยวจะต้องจอดเรือลอยลำในจุดที่วางทุ่นกำหนด และห้ามติดเครื่องยนต์ไล่ติดตามพะยูนอย่างเด็ดขาด

6.ในอนาคตการชมพะยูนควรขึ้นไปบนเขาบาตูปูเต๊ะ ซึ่งทางเขตห้ามล่าฯ จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว รวมทั้งขึ้นไปชมบนหอชมพะยูนเท่านั้น พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ อบต. อุทยานฯ เขตห้ามล่าฯ แจ้งผู้ประกอบการในการประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวให้ขึ้นไปดูพะยูนบนเขา แทนการนั่งเรือดูพะยูน

ที่มา:MGR ONLINE