Admin 14 มี.ค. 2562

ถึงเวลาลดใช้ 'โฟม-พลาสติก' แก้วิกฤติ 'ขยะล้นบก-ตกทะเล'


"ขยะบกตกทะเล" เป็นปัญหาระดับโลก โดยเฉพาะประเทศไทยนั้นถูกจับตามองจากนานาชาติหลังมีผลการศึกษาพบว่า "ไทยปล่อยให้มีขยะรั่วไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทรมากเป็นอันดับ 6 ของโลก" ขณะเดียวกันในประเทศเองก็มีรายงานข่าวสัตว์น้ำไปกินขยะที่ถูกทิ้งลงทะเลจนเข้าไปทำอันตรายต่อร่างกายจนตายลงให้เป็นภาพชวนเวทนา จึงมีความพยายามจะหลายภาคส่วนที่จะลดปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

โดยเฉพาะหน่วยงานซึ่งเป็นเจ้าภาพคือ "กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหา "เริ่มตั้งแต่บนบก" ที่ผ่านมามีการแสวงหาความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในประเด็น "ลดใช้พลาสติก - โฟม" เพราะเป็นวัสดุที่เมื่อกลายเป็นขยะจะย่อยสลายยากใช้เวลาหลักร้อยปี อีกทั้งเป็นอันตรายหากสิ่งมีชีวิตไม่ว่าในทะเลหรือบนบกบริโภคเข้าไป เริ่มต้นจากภาครัฐก่อนเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ภาคเอกชนและประชาชน

ผ่านการนำ 2 หน่วยงาน "กรมควบคุมมลพิษ" ที่มีความรู้เรื่องการจัดการขยะมูลฝอย กับ "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ" ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาตัวชี้วัดประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการ มาร่วมกันออกแบบ "ตัวชี้วัดการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงาน" และเริ่มใช้ตั้งแต่เข้าสู่ปีงบประมาณ 2562 (เดือน ต.ค. 2561 - ก.ย. 2562) สำหรับประเมินผู้บริหารส่วนราชการต่างๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ขณะที่การขยายความร่วมมือไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางกระทรวงมีโครงการ "ทำความดี ด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก" เข้าไปร่วมกับตลาดสด ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ เบื้องต้น จากการประเมินเป็นเวลา 7 เดือนเศษตั้งแต่ 21 ก.ค. 2561 - 28 ก.พ. 2562 พบว่า สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้แล้วประมาณ 814 ล้านใบหรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 4,600 ตัน

"ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จำนวน 154 แห่ง ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีข้อกำหนดห้ามนำกล่องโฟมบรรจุอาหารเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ และมีการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอด ตลอดจนช้อนและส้อมที่ทำจากพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2561 ซึ่งนับถึงวันที่ 31 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา สามารถลดจำนวนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งลดลงได้เป็นจำนวนทั้งหมด 1,639,920 ใบ" พล.อ.สุรศักดิ์ ระบุ

1-1

อีกด้านหนึ่ง สำหรับการแก้ปัญหาขยะบกตกทะเล "กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" ซึ่งดูแลพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล แบ่งเป็นฝั่งอันดามัน 8 จังหวัด และฝั่งอ่าวไทย 16 จังหวัด ดำเนินการใน 4 ด้าน

1.จัดเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศเป้าหมายอย่างน้อยจังหวัดละ 2 ครั้ง อีกทั้งยังร่วมจัดทำมาตรการลดปริมาณขยะทะเลในพื้นที่เป้าหมาย 10 พื้นที่ ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี พังงา ภูเก็ต และตรัง

2.โครงการชายหาดปลอดบุหรี่และปลอดขยะ มีเป้าหมายที่จะขยายผลจากพื้นที่นำร่อง 24 แห่ง ใน 15 จังหวัด

3.บริหารจัดการขยะทะเลโดยทุ่นกักขยะ โดยในปีงบประมาณ 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อทุ่น จำนวน 10 ชุด เพื่อการจัดการขยะบริเวณปากแม่น้ำและคลองที่จะไหลลงสู่ทะเล โดยดำเนินการร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่เป้าหมาย 10 แห่ง และ

4.กำจัดขยะในพื้นที่ที่มีปัญหาเฉพาะ อาทิ ออกคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 755/2561 ลงวันที่ 17 ส.ค. 2561 ว่าด้วยเรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริเวณพื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน และ เกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2561 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา

"ล่าสุดประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris ซึ่งเป็นการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอาเซียนวาระพิเศษ เรื่องขยะทะเล โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อเอกสาร ผลลัพธ์ซึ่งมี 2 ฉบับ คือ 1.ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และ 2.กรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติที่จะช่วยให้ลดปริมาณขยะทะเลด้วยความร่วมมือจากภาคเอกชน ที่จะพัฒนานวัตกรรม หรือการนำกลับไปใช้ใหม่ของผลิตภัณฑ์เพื่อลดปริมาณขยะ" พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2560 พบว่า ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยทั้งสิ้น 27.40 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 75,046 ล้านตันต่อวัน หรือคน 1 คน จะสร้างขยะเฉลี่ยคนละ 1.13 กิโลกรัมต่อวัน ขณะที่ขยะพลาสติกนั้นในประเทศไทยมีถึงราว 2 ล้านตัน หรือร้อยละ 12 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด ในจำนวนนี้ 1.5 ล้านตัน ถูกนำไปเผาในเตาเผาหรือฝังกลบ ส่วนอีก 0.5 ล้านตันสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ยังมีบางส่วนที่หลุดลงสู่พื้นที่สาธารณะ รวมถึงทะเลด้วย

อนึ่ง รายงานผลการวิจัยเรื่อง "การศึกษาระดับพฤติกรรมด้านการจัดการขยะของคนไทย (เล่ม 1)? จัดทำโดย ?ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม" สำรวจความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 4,549 คนจากทั่วประเทศ ระหว่างเดือน เม.ย. - ธ.ค. 2560 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ระบุว่าพลาสติกเป็นขยะที่พบในบ้านมากที่สุดถึงร้อยละ 82.96 สะท้อนบทบาทที่สำคัญของพลาสติกต่อวิถีชีวิตของผู้คน

ดังนั้นการลดใช้พลาสติก ตลอดจนการคัดแยกและการทิ้งอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงยังเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องขับเคลื่อนกันอย่างต่อเนื่อง!!!

ที่มา:แนวหน้า