Admin 23 ส.ค. 2561

สภาวะคลื่นและกระแสน้ำในอ่าวไทย โดยใช้ข้อมูลเรดาร์ชายฝั่ง ประจำวันที่ 1 ม.ค. 2513

ปัญหาเรื่องขยะในทะเลเป็นประเด็นระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ให้ความสำคัญ เนื่องจากการจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็น 1 ใน 17

เป้าหมายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปัจจุบันทะเลทั่วโลกกำลังเผชิญกับขยะที่เคลื่อนจากแผ่นดินออกสู่ชายฝั่งและท้องทะเล เป็นสาเหตุให้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลได้รับความเสียหาย สัตว์ทะเลบาดเจ็บและตาย ส่งผลต่อระบบนิเวศวิทยาทางทะเล เศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนการท่องเที่ยวในภาพรวม

เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก อินโดนีเซีย (อันดับ 2) ทิ้งขยะพลาสติกในทะเล 3.22% ฟิลิปปินส์ (อันดับ 3) และ เวียดนาม (อันดับ 4) มีปริมาณขยะอยู่ที่ 1.88% ส่วน ไทย (อันดับ 6) และ มาเลเซีย (อันดับ 8) มีปริมาณขยะ 1.03% และ 0.94% ตามลำดับ

ในกรณีประเทศไทย ประเด็นปัญหาขยะทางทะเลได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง หลักจากเหตุการณ์การตายของวาฬนำร่องครีบสั้น เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา สัตวแพทย์พบว่า วาฬมีอาการลอยตัวผิดปกติ ก่อนที่จะมีการสำรอกพลาสติกและตายในเวลาต่อมา ผลการชันสูตรพบว่าสาเหตุการตายนั้นเกิดจากการที่วาฬกินพลาสติกเข้าไปกว่า 8 กิโลกรัม จนทำให้ระบบย่อยอาหารอุดตัน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ระบุว่าสัตว์ทะเลจำนวนมากต้องตายเพราะปัญหาขยะทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติก หากประเทศไทยไม่เร่งลดปริมาณขยะในทะเล อาจส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ทางทะเล ชายฝั่ง และมนุษย์ในที่สุด

นอกจากประเทศไทย แล้วเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลของอินโดนีเซียเองก็เป็นที่จับตามองเช่นกัน บริเวณเกาะนูซาเปนิดา ใกล้กับเกาะบาหลีก็กำลังพบกับวิกฤตขยะที่ทำลายทัศนียภาพและระบบนิเวศวิทยาในทะเลของอินโดนีเซียด้วย เช่นเดียวกับกรณีของเกาะโบราไกในฟิลิปปินส์ที่กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมเพราะธุรกิจร้านค้าต่างๆปล่อยของเสียลงทะเล โดยไม่มีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ จนรัฐบาลต้องออกคำสั่งปิดเกาะเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ

สำหรับมาตรการการจัดการปัญหาขยะทางทะเลของชาติสมาชิกอาเซียนนั้น ในส่วนของไทยได้ประกาศใช้ “แผนแม่บทการบริหารขยะมูลฝอยของประเทศปี 2559 – 2564” โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้จัดทำมาตรการเพื่อจัดการขยะทางทะเล ได้แก่ 1.การศึกษาชนิด ปริมาณ แหล่งที่มาและจัดทำฐานข้อมูล 2.การลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อระบบนิเวศที่สำคัญ 3.การลดปริมาณขยะทะเลตามหลักวิชาการ 4.การส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 5.การสร้างจิตสำนึกในการลดขยะทะเล ด้วยการเริ่มลดปริมาณขยะทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล

ส่วนอินโดนีเซียตั้งเป้าหมายลดขยะทางทะเลให้ได้ 70% ภายในปี 2568 พร้อมกันนั้น รัฐบาลเพิ่มมาตรการให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดปริมาณขยะในระดับนักเรียนนักศึกษา ในกรณีของฟิลิปปินส์ นอกจากมาตรการเด็ดขาดเช่นการห้ามเข้าในพื้นที่เสื่อมโทรมแล้ว ทางรัฐบาลกำลังพัฒนาแนวคิดการออกกฎหมายด้านการจัดการขยะทางทะเลฉบับใหม่อีกด้วย

ในส่วนของความร่วมมือระดับอาเซียนเพื่อจัดการปัญหาขยะในทะเลนั้น ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับอาเซียนเรื่อง “การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน” หรือ “ASEAN Conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region” เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ จ.ภูเก็ต โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประเทศจีน และองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลขยะทะเลและแนวทางการรับมือระหว่างกันเป็นครั้งแรก เพื่อหามาตรการป้องกันและควบคุมไม่ให้ปริมาณขยะบนบกไหลลงทะเลเพิ่มเติม การกำหนดแผนจัดการขยะของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการแก้ปัญหาขยะทะเลระดับโลก ระดับภูมิภาคและด้านกฎหมาย นอกจากนี้ผู้แทนจากประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ยังได้เข้าร่วมประชุมกับสหประชาชาติเรื่องมหาสมุทร ซึ่งอยู่ในกรอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และกล่าวยืนยันว่าจะทั้ง 3 ประเทศร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการทิ้งขยะพลาสติกในทะเล


1-6

ชาติสมาชิกอาเซียนล้วนตระหนักถึงปัญหาขยะทางทะเลและพยายามหามาตรการแก้ไขทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ทว่าปัญหาขยะทางทะเลเป็นปัญหาที่มีลักษณะข้ามชาติเนื่องจากเขตแดนทางทะเลนั้นมีอาณาบริเวณที่กว้าง เมื่อขยะได้เคลื่อนออกจากผืนดินไปสู่น่านน้ำทะเลแล้วก็ยากที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถจัดการได้อย่างอิสระเพราะอาจรุกล้ำเขตน่านน้ำของประเทศอื่นได้ การแก้ปัญหาขยะทางทะเลจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและกลไกในระดับระหว่างประเทศด้วย นอกจากนี้แล้วการแก้ปัญหาในระยะยาวยังต้องอาศัยการให้ความรู้ การศึกษาในการจัดการขยะและปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนเพื่อการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเลอย่างรอบด้านและยั่งยืนอีกด้วย

1-3
ที่มา:http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645064